น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการเงินการธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 14 ม.ค.นี้ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% เนื่องจากขณะนี้ความเสี่ยงต่อการเติบทางเศรษฐกิจยังมีอยู่สูง ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนที่จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย รวมไปถึงการใช้จ่ายในประเทศยังชะลอตัว จากปัญหาความเชื่อมั่น
ทั้งปี 52 คาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 1% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทย Q4/51 ถึง H1/52 ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง และบางไตรมาสอาจติดลบได้ ขณะที่ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อมีน้อยลง จากการที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ กนง.ลดดอกเบี้ย
"มองว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังมีความชัดเจนมากขึ้น แต่เงินเฟ้อที่ลดต่ำลงมาก ก็ช่วยให้ กนง.ลดดอกเบี้ยลงได้อีกอย่างน้อย 0.5% ในรอบนี้ โดยขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจว่ามีมากน้อยแค่ไหน"น.ส.เกวลิน กล่าว
การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ครั้งนี้ อาจจะมีผลให้ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ลงตาม แต่ไม่ได้เป็นอัตราเดียวกับการลดดอกเบี้ยของ กนง.เห็นได้จากเมื่อ ธ.ค. ที่ กนง.ลดดอกเบี้ย 1% ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงเฉลี่ย 0.50% ในส่วนของเงินกู้ ซึ่งจะเป็นผลดีที่จะช่วยลดภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และผู้มีภาระเงินกู้ต่างๆ
น.ส.เกวลิน มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาก โดยล่าสุด ธ.ค.อยู่ที่ 0.4% นั้น เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาสินค้าปรับลดราคาตาม และเชื่อว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะ บางเดือนมีโอกาสติดลบได้เช่นกัน แต่คงจะไม่ส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเนื่องจากเป็นการเทียบจากฐานปีก่อนที่อยู่ระดับสูงมาก จึงอาจมองว่าเป็นลักษณะเงินฝืดทางเทคนิคเท่านั้น
"การที่กังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดคงไม่ใช่ เพราะเป็นการเทียบจากฐานปีก่อนที่สูง ทำให้เงินเฟ้อที่ออกมาอยู่ระดับต่ำ แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะหากเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริง เศรษฐกิจจะซบเซามาก สินค้าต่างๆ มีการลดราคา แต่ประชาชน ผู้บริโภค ชะลอที่จะซื้อสินค้า ซึ่งไทยคงไม่เข้าสู่จุดนั้น"น.ส.เกวลิน กล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการจัดทำงบกลางปี 1 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะเป็นผลดีในแง่จิตวิทยาในระยะสั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น แต่ผลของเม็ดเงินงบประมาณที่จะเข้าสู่ระบบยังต้องรอถึงเดือน เม.ย.ดังนั้น ช่วง Q1/51 ผลของมาตรการต่างๆ อาจยังไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หากงบกลางปีเริ่มเข้าสู่ระบบ และมีไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง H2/52
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการประชุม กนง.ครั้งนี้คาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% เนื่องจาก ธปท.ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น หลังจากเงินเฟ้อปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว จึงไม่มีแรงกดดันอีก อีกทั้งสถานการณ์ดอกเบี้ยโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน และเชื่อว่าการลดดอกเบี้ย กนง.ครั้งนี้ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงตามเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าทั้งปีนี้ ธปท.ควรต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 1% เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างแท้จริง แม้ขณะนี้จะมีสัญญาณจากเงินเฟ้อพื้นทั่วไปที่ติดลบ แต่ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังเป็นบวก และยังอยู่ในกรอบเงินเฟ้อของ ธปท.ที่กำหนดไว้ที่ 0-3.5% แต่หากปล่อยให้เศรษฐกิจซึมตัว อาจกระทบทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหา
"ตอนนี้เงินเฟื้อพื้นฐานยังไม่เป็นเงินฝืด ดังนั้น เห็นว่าแบงก์ชาติจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีกไม่น้อยกว่า 1% ในปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่หากปล่อยให้เศรษฐกิจซึมตัว จะเสี่ยงต่อให้เงินเฟ้อพื้นฐานเป็นฝืดได้"นายธนวรรธน์ กล่าว