(เพิ่มเติม) คลัง ปรับเพิ่มวงเงินกู้ผ่านตราสารรัฐเป็น 6 แสนลบ.จาก 4.5 แสนลบ.ในปีงบฯ52

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 12, 2009 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มแผนการกู้เงินผ่านการออกตราสารหนี้ภาครัฐในปีงบประมาณ 52 เป็น 6 แสนล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี 52 จะเพิ่มขึ้นเป็น 41% ต่อจีดีพี

ขณะนี้มีแผนออกตราสารหนี้ราว 5 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะเน้นเงินกู้ระยะสั้น คาดว่าเม็ดเงินจะถึงมือผู้ประกอบการได้ในราวต้นเดือน มี.ค.นี้

อนึ่ง หนี้สาธารณะ ณ สิ้น ต.ค.51 อยู่ที่ 36.92% ต่อจีดีพี

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า เตรียมปรับการก่อหนี้ภาครัฐสำหรับปีงบประมาณรายจ่าย 2552 เพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มขึ้นอีก 1.2 แสนล้านบาท ทำให้ต้องมีการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 3.54 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนรีไฟแนนซ์เงินกู้วงเงิน 2 แสนล้านบาท และการออกพันธบัตรให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 5 หมื่นล้านบาท

โดยในปีงบประมาณรายจ่าย 2552 กระทรวงการคลังจะเน้นการออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2-3 ปีเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของตั๋วเงินคลังจะปรับเพิ่มวงเงินจาก 1.96 แสนล้านบาท เป็น 2.5 แสนล้านบาท ส่วนการออกพันธบัตรออมทรัพย์จะลดจาก 6 หมื่นล้านบาท เหลือ 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับสภาพคล่องในช่วงที่มีการออกพันธบัตรนั้น กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การออกพันธบัตรแต่ละครั้งช่วยดูดซับสภาพคล่องในระบบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาด ซึ่ง ธปท.จะออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 14 วัน-3 ปี น้อยลง เพื่อเปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรระยะสั้นได้แทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ