นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดย สบน.เตรียมออกพันธบัตรวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อจัดเป็นวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์)ปล่อยกู้ต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ในลักษณะการซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงิน ทดแทนซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่มีข้อจำกัดตามกฎหมายที่ไม่สามารถจัดวงเงินซอฟท์โลนได้อีก
พันธบัตรที่จะออกเป็นซอฟท์โลน 50,000 ล้านบาทเป็นการกู้เงินในประเทศเป็นพันธบัตรอายุ 2-3 ปี มีต้นทุนที่ 1.95% แต่หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในวันที่ 14 ม.ค.ต้นทุนการออกพันธบัตรก็จะลดลงอีก นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีการจัดเงินประมาณอุดหนุนดอกเบี้ยในโครงการนี้เพื่อให้ต้นทุนพันธบัตรเหลือแค่ 1% โดยจัดสรรจากงบกลางปีเบื้องต้นวงเงิน 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดจากลูกค้าที่ขอสินเชื่อจะอยู่ที่ 5.5% คาดว่าเม็ดเงินปล่อยเข้าสู่ระบบได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้
"หลักเกณฑ์ปล่อยให้จะไม่ต่างจากแบบเดิมที่ ธปท.เคยปล่อยซอฟท์โลน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่การกู้เงินของลูกค้าจากธนาคารพาณิชย์จะออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยแบงก์จะอาวัลตั๋วเพื่อขายลดให้เอสเอ็มอีแบงก์วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ดอกเบี้ย ต่ำกว่าอัตรา MLR...จะเน้นไปที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก"นายพงษ์ภาณุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ความต้องการสินเชื่อในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีมากถึง 75,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าวงเงินที่จัดเตรียมไว้ ขณะเดียวกันซอฟท์โลนครั้งนี้ส่วนหนึ่งจะใช้รองรับการรีไฟแนนซ์ซอฟท์โลนเดิมของ ธปท.ด้วย วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อวางแนวทางดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมต่อไป