พาณิชย์ลดงบช่วยสินค้าเกษตรเหลือ 4.37 หมื่นลบ. วางมาตรการดันราคา-ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 12, 2009 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสินค้าเกษตร" ว่าได้ กำหนดมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยเหลือพืชเกษตรที่จะของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ 4.37 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้บริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญ 9 รายการ ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, กุ้ง, ปาล์มน้ำมัน, สุกร, ไก่เนื้อ, ไข่ไก่ และผลไม้

นอกจากนี้จะขอเงินงบประมาณจากงบกลางปีมาใช้ทำโครงการ Farm Outlet และโครงการจับคู่ธุรกิจระหว่างจังหวัด วงเงิน 935 ล้านบาท โครงการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรโดยจ้างบัณทิตอาสาสำรวจข้อมูลทั้งจำนวนเกษตรกร, ชนิดผลผลิตและปริมาณ วงเงิน 1,500 ล้านบาท และโครงการระบบขนส่งกระจายสินค้าเกษตรไปสู่ทุกภูมิภาค 1,500 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า เดิมกระทรวงพาณิชย์มีแผนจะใช้งบประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท ในการแทรกแซงสินค้าเกษตร 11 ชนิด แต่ภายหลังได้ปรับลดลงเหลือ 4.37 หมื่นล้านบาท โดยตัดการดูแลสินค้ายางพารา และอ้อย ออกไป เนื่องจากเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงอุตสาหกรรมที่แจ้งว่ามีความประสงค์จะของบประมาณในการดูแลเอง

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการเฉพาะสินค้าสำคัญ เช่น ข้าว จะใช้ยุทธศาสตร์ผู้ผลิตต้องเป็นผู้กำหนดราคา โดยจะไม่เร่งรัดการระบายข้าวจนกว่าจะได้ราคาที่เป็นประโยชน์, การร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งเวียดนาม จีน และอินเดีย โดยจะเดินทางไปหารือในเร็วๆ นี้, เพิ่มช่องทางการระบายข้าวในสต๊อกจากวิธีการประมูลเป็นการระบายผ่านกลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า, ใช้ข้าวในสต๊อกเป็นสต๊อกสำรองของอาเซียนเพื่อส่งผลต่อราคา และดำเนินการค้าแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(จีทูจี) เพื่อเพิ่มโอกาสระบายสต๊อกและไม่กระทบผู้ส่งออก

ส่วนมันสำปะหลังจะสนับสนุนยุทธศาสตร์เอทานอลอย่างจริงจังโดยสนับสนุนนโยบาย E85 และ E100 และยกเลิกเบนซิน 95 ซึ่งจะแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อประสานกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป

ข้าวโพดจะกำกับการรับจำนำไม่ให้มีการสวมสิทธิ การลักลอบนำเข้า พร้อมทั้งได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปรวบรวมข้อมูลความต้องการของเกษตรกรเพื่อพิจารณาดูแลต่อไปและจะระบายสต๊อกข้าวโพดที่รับจำนำในขณะนี้ด้วยวิธีการที่โปร่งใส

ขณะเดียวกันในระยะกลางและระยะยาวจะเพิ่มรูปแบบการรับจำนำ โดยให้คลังสาธารณะออกใบประทวนสินค้าให้กับเกษตรกร แทนที่จะเป็นการออกโดยองค์การคลังสินค้า(อคส.) เท่านั้น ซึ่งเกษตรกรสามารถนำใบประทวนไปรับเงินจากธนาคาร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) และจะขยายไปยังธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ด้วย รวมทั้งจะใช้กลไกสินค้าเกษตรล่วงหน้าอย่างจริงจัง โดยมีมาตรการจูงใจให้เกิดผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายล่วงหน้ามากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่เพียง 9 ราย

นางพรทิวากล่าวว่า กระทรวงฯ ยังจะมีมาตรการเสริมเพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น โดยในด้านตัวสินค้าเกษตร จะส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาให้ผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด, การให้ความรู้ด้านความต้องการของตลาด เพื่อเกษตรกรจะได้วางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

ด้านราคาและต้นทุนของสินค้าเกษตรจะดูแลต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสม เช่น เรื่องพลังงาน ปุ๋ย และอาหารสัตว์ การประกันราคาสินค้าเกษตรเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำอย่างเร่งด่วน และส่งเสริมให้เกษตรกรทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (คอนแทรก ฟาร์มมิ่ง)

ด้านการตลาด ขอความร่วมมือธุรกิจที่เกี่ยวข้องหันมาพัฒนาสินค้าเกษตรไทย เช่น นำผลไม้ไปผลิตอาหารมากขึ้น, ขอความร่วมมือโมเดิร์นเทรดให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอย่างถาวร โดยจัดทำโครงการ "ภูมิใจไทย บริโภคสินค้าเกษตรไทย" เชิญผู้นำเข้ารายใหญ่มาไทยและแนะนำสินค้าเกษตรไทย ตลอดจนการหาหาทางแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้า เป็นต้น ด้านการประชาสัมพันธ์ จะเน้นการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคสินค้าเกษตรไทย, ผลักดันสินค้าเกษตรไทยผ่านโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกฉบับสมบูรณ์

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า มาตรการที่จะดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยให้รายได้ภาคเกษตรของสินค้าสำคัญดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 30% หรือเพิ่มขึ้น 6.4 ล้านบาท จากมูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตรรวม 1.2 ล้านล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ