เลขาธิการ ก.ล.ต.-กบข.แนะนักลงทุนเน้นบริหารความเสี่ยงก้าวผ่านวิกฤต ศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 13, 2009 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) แนะหลักบริหารความเสี่ยง 4 ประการสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ 1.ต้องบริหารอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป เนื่องจากการมีสัดส่วนของทุนสูงจะช่วยให้สามารถทนต่อแรงเสียดทานจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้

2.ต้องบริหารกระแสเงินสด ซึ่งถือเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้อาจเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ลูกหนี้ค้างชำระ ยอดขายลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น

3.ไม่สามารถนำสมมุติฐานที่เกิดขึ้นในอดีตมาใช้บริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นต้องมีการทบทวนหรือสอบทานข้อมูลให้มีความชัดเจนก่อน

และ 4.การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะนำมาบริหารความเสี่ยงนั้นจำเป็นต้องให้ทีมงานที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวสามารถอธิบายให้ผู้บริหารเข้าใจได้ และ 5.ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรวดเร็ว

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพราะทุกประเทศต่างประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการประคับประคององค์กรของตัวเองให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ก็ถือเป็นปฏิบัติการเชิงรุกที่ดีที่สุดแล้ว

"คงไม่ต้องไปคิดอะไรใหม่ๆ มาก หลายประเทศตอนนี้ก็ง่อนแง่นในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงได้ดีคือการประคองตัวเองให้พ้นจากวิกฤต"นายธีระชัย กล่าวในการสัมมนา"การบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ"

ขณะที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กล่าวว่า ปีนี้นักลงทุนคงไม่ได้มองเรื่องการแสวงหาผลกำไรสูงสุด แต่คงทำได้แค่พยายามลงทุนไม่ให้ได้รับความเสียหาย ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงในปีนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นและวางกลยุทธ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะยืดเยื้อยาวหน้าหรือไม่

ในส่วนของ กบข.ก็พยายามกระจายความเสี่ยงด้วยการไปลงทุนในหลายๆ ส่วน แต่จะไม่นำไปฝากธนาคารเพราะได้รับผลตอบแทนต่ำ โดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ราว 60%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ