นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) แนะหลักบริหารความเสี่ยง 4 ประการสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ 1.ต้องบริหารอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป เนื่องจากการมีสัดส่วนของทุนสูงจะช่วยให้สามารถทนต่อแรงเสียดทานจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้
2.ต้องบริหารกระแสเงินสด ซึ่งถือเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้อาจเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ลูกหนี้ค้างชำระ ยอดขายลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น
3.ไม่สามารถนำสมมุติฐานที่เกิดขึ้นในอดีตมาใช้บริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นต้องมีการทบทวนหรือสอบทานข้อมูลให้มีความชัดเจนก่อน
และ 4.การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะนำมาบริหารความเสี่ยงนั้นจำเป็นต้องให้ทีมงานที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวสามารถอธิบายให้ผู้บริหารเข้าใจได้ และ 5.ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรวดเร็ว
เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพราะทุกประเทศต่างประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการประคับประคององค์กรของตัวเองให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ก็ถือเป็นปฏิบัติการเชิงรุกที่ดีที่สุดแล้ว
"คงไม่ต้องไปคิดอะไรใหม่ๆ มาก หลายประเทศตอนนี้ก็ง่อนแง่นในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงได้ดีคือการประคองตัวเองให้พ้นจากวิกฤต"นายธีระชัย กล่าวในการสัมมนา"การบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ"
ขณะที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กล่าวว่า ปีนี้นักลงทุนคงไม่ได้มองเรื่องการแสวงหาผลกำไรสูงสุด แต่คงทำได้แค่พยายามลงทุนไม่ให้ได้รับความเสียหาย ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงในปีนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นและวางกลยุทธ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะยืดเยื้อยาวนานหรือไม่
ในส่วนของ กบข.ก็พยายามกระจายความเสี่ยงด้วยการไปลงทุนในหลายๆ ส่วน แต่จะไม่เน้นนำไปฝากธนาคารเพราะได้รับผลตอบแทนต่ำเพียง 0.5-2% โดยจะเน้นสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ราว 60% นอกนั้นเป็นการลงทุนประเภทอื่น เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคาร สำนักงาน เป็นต้น
"เป้าหมายของเราคืออยากให้สมาชิก(กบข.) มีเงินออมชนะเงินเฟ้อในระยะยาว เพราะฉะนั้นการฝากเงินอย่าเดียวไม่ช่วยเรื่องชนะเงินเฟ้อได้ เราจึงต้องกระจ่ายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆด้วย...ไม่มีใครรู้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นเมื่อไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ prepare for the worst case" นายวิสิฐ กล่าว
ด้านนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู(BANPU) เปิดเผยว่า การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจที่จะต้องมาประเมินอย่างน้อยทุก 3 เดือน อย่างไรก็ดีสำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ BANPU จนถึงช่วงกลางปีนี้จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนและขอประเมินสถานการณ์อีกระยะก่อน เพราะไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะผ่านช่วงตกต่ำสุดไปแล้ว
"จนถึงกลางปี 2009 จะไม่ขยับ(แผนดำเนินธุรกิจ) จะดูไปก่อน เราไม่เชื่อว่าผ่าน bottom ไปแล้ว และไม่เชื่อว่าจะเป็น V shape แต่น่าจะเป็น U shape" นายชนินท์ ระบุ
พร้อมเห็นว่าเป็นความโชคดีของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่มาก เนื่องจากบริษัทเลือกใช้สถาบันการเงินของไทยเป็นหลัก เพราะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี วิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ถือว่ารุนแรง เพราะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนทั้งสถาบันการเงิน, การจ้างงาน, การลงทุน และ กำลังการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศต่างกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศตัวเองจะตกต่ำ ดังนั้น เชื่อว่าคงจะใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และทำให้วิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลาที่รวดเร็วนัก
"เหตุที่เชื่อว่าไม่เร็ว เพราะขนาดกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะเอานโยบายไปทำให้เกิดผลขึ้นมา คงต้องใช้เวลานานมากกว่าเงินจะลงไปถึง ในเมื่อกว่าเงินจะลงไปถึง เงินลงทุนน้อยลง การใช้จ่ายภาครัฐช้า การบริโภคลดลง เศรษฐกิจของประเทศคงจะลำบาก นี่คือเหตุผลที่ทำไมถึงมองว่าไม่น่าเร็ว(การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ)
นายชนินท์ กล่าวว่า อาจจะต้องมองไปถึงกลางปีนี้ว่ามาตรการของแต่ละประเทศที่ออกมาได้ลงไปถึงประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรการในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน และอินเดีย ว่าจะมีผลในเชิงบวกมากน้อยเพียงใด และสร้างความเชื่อมั่นจากการลงทุนเพิ่มขึ้นได้หรือไม่