นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ติงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมองว่าหลายโครงการที่รัฐบาลนำมาใช้ยังไม่เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ ทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีที่จะช่วยเฉพาะกลุ่มที่มีงานทำ ทำให้เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง และทำให้ประชาชนทั่วไปขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย
ส่วนการอัดฉีดเงิน 2,000 บาท แก่ข้าราชการและพนักงานบริษัทที่มีรายได้ต่ำถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและไม่สามารถวัดผลจากการดำเนินงานดังกล่าวได้ เพราะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุด และในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คนกล่มนี้อาจนำเงินที่ได้ไปออมมากกว่าการนำไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
"การเลือกใช้มาตรการลดหย่อนภาษีที่ได้ผลมากที่สุดจะต้องเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่จากสถานการณ์ขณะนี้ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างชัดเจน มีคนตกงานมาก การลดหย่อนภาษีก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ หรือแม้แต่การแจกเงิน 2,000 บาทให้ผู้มีรายได้ต่ำ แต่หากรัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้ คนกลุ่มนี้ก็คงยังไม่กล้าใช้จ่ายเงินแน่นอน" นายมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ภาครัฐควรเลือกแนวทางในการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คต์ เช่น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้า การก่อสร้างถนน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการสร้างงาน และ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากกว่า
นายมนตรี กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการคลังเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอ ภาครัฐควรใช้นโยบายการเงินควบคู่กันไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% จากปัจจุบันที่ 2.75% เนื่องจากปัจจัยที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและเป็นการดูแลเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ทั้งนี้คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 1% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้