In Focusส่องเศรษฐกิจโลกปีวัว มืดมัวหรือสดใสต้องทำใจไว้ล่วงหน้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 14, 2009 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เปิดศักราชปี 2552 ไปได้เพียง 12 วัน ข่าวคราวด้านเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงเอนเอียงไปในด้าน "ลบ" มากกว่าในด้าน "บวก" ไม่ว่าจะเป็นดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งเหวแบบเทกระจาด จนถึงตัวเลขจ้างงานในสหรัฐที่ทรุดหนักจนน่าใจหาย เพราะหากเอาชาวอเมริกันที่ตกงานรวมทั้งสิ้น 2.6 ล้านคนในเวลานี้มารวมกัน จะมีจำนวนเท่ากับประชากรในบางประเทศ... แค่คิดก็ทำเอาบางคนแทบจะนอนไม่หลับแล้ว

เส้นทางเศรษฐกิจโลกยังอีกยาวไกลและไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีนี้ แต่ฝันร้ายของปรากฏการณ์ Great Depression และวิกฤตการณ์ Hamburger Crisis ที่กระหน่ำเศรษฐกิจทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ยังคงตามหลอกหลอนคนส่วนใหญ่มาจนถึงปีนี้ อย่างไรก็ตาม องค์กรใหญ่ๆของโลกได้ออกรายงานคาดการณ์กันตั้งแต่ต้นปีเพื่อประเมินชะตากรรมเศรษฐกิจโลกในปีนี้กันไปบ้างแล้ว รวมถึงธนาคารโลกที่หั่นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีพ.ศ.2552 ลงเหลือ 1% จากเดิมที่คาดไว้ 3% แต่ธนาคารโลกที่ไม่เคยทิ้งบทบาทของการเป็น "ที่พึ่ง" มาแต่ไหนแต่ไร ยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะเพิ่มวงเงินสนับสนุนกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยส่วนหนึ่งมีเป้าหมายที่จะปกป้องภาวะผันผวนในระบบเศรษฐกิจและสนับสนุนกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาให้สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณได้ ซึ่งก็ช่วยให้หลายประเทศโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่ง

ในฝั่งเอเชียนั้น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) คาดว่า เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งในปีนี้และปีหน้า แม้วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐกำลังลุกลามไปทั่วโลก และคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวในอัตรา 7.5% ในปีนี้ และ 7.2% ในปีหน้า แต่ไม่นานวาณิชธนกิจชื่อดังของโลกอย่างเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ก็ออกมาแย้งว่า ยังไม่แน่ว่าเศรษฐกิจในประเทศเอเชียจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์ด้านการเงินที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ Great Depression ไปได้หรือไม่ แม้ที่ผ่านมาเอเชียสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์รุนแรงที่เกิดจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และการขายกิจการของเมอร์ริล ลินช์ก็ตาม ... ก็คาดการณ์กันไป แต่คำทำนายของใครจะแม่นหรือออกมาตรงกันข้ามก็คงต้องดูที่ "ผล"

ข่าวความเคลื่อนไหวที่กระตุกหัวใจพวก "มนุษย์เงินเดือน" มากที่สุดและคาดว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปอีกในปีนี้ คงหนีไม่พ้น "กระแสเลย์ออฟ" นับตั้งแต่ซิตี้กรุ๊ปประกาศปลดพนักงานทั่วโลก 52,000 คนในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารประกาศไว้เมื่อเดือนที่แล้วถึง 2 เท่า หลังจากได้รับผลกระทบจากการขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาสและเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวลง ภาวะหวานอมขมกลืนเช่นนี้ทำให้นายวิกรม บัณฑิต ซีอีโอซิตี้กรุ๊ปออกหนังสือเวียนถึงพนักงานทุกคนว่า "ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของซิตี้กรุ๊ป คือช่วงเวลาที่เราต้องแจ้งให้เพื่อนร่วมงานทราบถึงความจำเป็นในการลดพนักงาน และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหลือเกินที่จะบอกว่า พวกท่านอาจต้องนำความรู้ความสามารถไปใช้ที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ซิตี้กรุ๊ป การที่เราตัดสินใจดำเนินการเช่นนี้เพราะเราจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่ว่าอยากจะทำ" ...หนังสือเวียนแบบนี้เป็นใครก็คงไม่อยากให้เข้ามาเวียนในบริษัทของตัวเอง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกทั้งใบในขณะนี้จับตาความเคลื่อนไหวของชายที่ชื่อ บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐที่ถูกคาดหวังน่าจะเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาวเข้ามาพลิกฟื้นสหรัฐและกู้เศรษฐกิจโลกได้ จึงไม่แปลกที่ความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าวของว่าที่ประธานาธิบดีผิวสีผู้นี้จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกเป็นพิเศษ ไม่เว้นแม้กระทั่งการพาครอบครัวไปเดินจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่หากมองสถานการณ์แวดล้อมอย่างมีสติก็จะพบความจริงที่ว่าโอบามากำลังเผชิญกับปัญหาที่รอแก้อยู่รอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงเกินกว่าที่ใครจะยิ้มออก และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่โอบามาเพิ่งนำเสนอเป็น "อินโทรดักชั่น" ก่อนเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.นี้นั้น ก็เป็นเพียงความพยายามที่จะพยุงเศรษฐกิจในบ้านของตัวเองเอาไว้เท่านั้น ไม่ใช่การ "กู้เศรษฐกิจโลก" อย่างที่หลายคนคาดหวังให้เป็น

ดังนั้น หากใครฝันว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับอานิสงส์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของโอบามาก็น่าจะเผื่อใจรับความจริงไว้ด้วยว่า สหรัฐจะช่วยโลกได้อย่างไรในเมื่อตัวเองยังเอาตัวไม่รอด และแม้แต่ชาวอเมริกันเองก็ยังวิพากษ์วิจารย์แผนเศรษฐกิจของโอบามาว่า "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้" เพราะเน้นไปที่การสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่ต้องใช้ระยะเวลาเบิกจ่ายและก่อสร้างนานจึงจะเห็นผล

รากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจโลกรอบนี้ถูกนำไปวิเคราะห์หาเหตุผลในวงกว้าง รวมถึงกูรูด้านการเงินระดับโลกไปจนถึงบุคคลผู้เป็นที่พึ่งทางใจของคนค่อนโลก โดยเคนเน็ท โรกอฟฟ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฟันธงว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกมีต้นตอมาจากปัญหาในตลาดซับไพรม์ของสหรัฐ หรือการปล่อยกู้แก่ผู้ที่มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้คืนต่ำกว่ามาตรฐาน...ปัญหาเดียวกันนี้ องค์อาไล ลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของทิเบต มองว่า วิกฤติการเงินที่สั่นคลอนระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดขึ้นพราะผู้คนขาดจิตสำนึกและจิตวิญญาณ ผู้คนมีแต่ความเห็นแก่ตัวและดำเนินชีวิตแบบวัตถุนิยม ซึ่งสภาวะจิตใจเช่นนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยลง

เห็นจะจริงอย่างที่ท่านมอง เพราะความเห็นแก่ตัวและความโลภเช่นนี้ทำให้เบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ อดีตประธานกรรมการตลาดหุ้นนาสแดค กลายเป็นอาชญากรการเงินที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกให้ย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อเขาริอ่านตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในรูปแบบของ แชร์ลูกโซ่ (ponzi scheme) ที่ทำให้สถาบันการเงินและบุคคลผู้มีชื่อเสียงทั่วโลกสูญเงินไปกับการหลอกลวงในครั้งนี้เป็นวงเงินถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากนั้นไม่นานก็มีข่าวในอีกซีกโลกว่า นายบี รามาลิงกา ราจู ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท ซัตยัม คอมพิวเตอร์ เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่อันดับ 4 ของอินเดีย ถูกตำรวจอินเดียจับกุมตัวในข้อหาตกแต่งบัญชีเพื่อโชว์ผลกำไรที่สูงเกินจริงมานานหลายปี...งานนี้ ไม่รู้ว่าเป็นความผิดของมาดอฟฟ์หรือเปล่าที่ลืมประกาศว่า "ความสามารถเฉพาะตัว ห้ามเลียนแบบ"

ปีวัวปีนี้ จะเป็นปีวัวดุ..วัวขวิด..หรือวัวบ้า ก็ยากที่จะ "ฟันธง" หรือ "คอนเฟิร์ม" ได้ เพราะคนที่ออกมาฟันธงก็ธงหักไปหลายรายแล้วเหมือนกัน แต่ที่แน่ๆคือ มีสติ ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ตัว และสะกดคำว่า "พอเพียง" ให้เป็น ... เพราะหากเรามีสติมั่นคงและรู้จักพอกับสิ่งที่มี ก็อาจตั้งรับกับสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตได้ไม่ยากนัก



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ