"กรณ์"เสนอมาตรการภาษีเข้าครม.20 ม.ค.-เร่งรัดเบิกงบลงทุน รสก.กระตุ้นศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมนำเสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่การพิจารณาของครม. วันที่ 20 ม.ค.นี้ และจากการหารือร่วมกับ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ รมช.คลังในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพากร และ ปลัดกระทรวงการคลังแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าว ควรหารือกับนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ก่อนเนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนนำเข้า ครม.

อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังไม่มีการพิจารณาปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลยังจำเป็นต้องมีรายได้ภาษีเพื่อดูแลเศรษฐกิจ แม้ปัจจุบันอัตราภาษีดังกล่าวยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ แต่ในระยะยาว จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

และในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ จะหารือถึงการร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่คงค้างกว่า 5 แสนล้านบาท รวมถึงงบลงทุนของส่วนราชการอีกกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าที่ประชุมจะได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงาน เพื่อผลักดันการเบิกจ่ายงบลงทุนให้จริงตามที่มีการเสนอแผนลงทุนไว้

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลจัดทำงบประมาณกลางปีกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนจะทำให้เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้มากกว่า หรือต่ำกว่า 2% ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรอบการหมุนของเงินที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ได้เน้นเรื่องตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการประคองเศรษฐกิจมากกว่า

"รัฐบาลจะเป็นตัวนำในการลงทุนต่างๆ เพื่อให้เอกชนเกิดความมั่นใจ และสานต่อนโยบายจากรัฐบาล วางแนวทางทำอย่างไรไม่ให้เครื่องดับ ขณะที่เห็นว่าโอกาสของไทยดีกว่าหลายประเทศที่ต้องสูญเสียเม็ดเงินเป็นงบจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน แต่ของเราไม่ต้องใช้แม้แต่บาทเดียว แต่ปัญหาของเราอยู่ที่สภาพคล่องมากกว่า"รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ปัญหาของประเทศเกิดจากเงินฝากที่มีมากกว่าเงินกู้ ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ มีการใช้จ่ายเงิน ธนาคารพาณิชย์ยอมปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบ ซึ่งยอดหนี้สินต่อทุนของไทยยังอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบหลายประเทศ

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันนี้ นายกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง.และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ แต่จากการหารือร่วมกับ ธปท.ก่อนหน้านี้ ได้มีการชี้แจงแนวคิดของรัฐบาลในการดูแลเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการการคลังเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น กนง. คงต้องมีการประเมินความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการคลัง และการใช้นโยบายการเงิน เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ