ศูนย์วิจัยกสิกรฯปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 52เหลือโต 1.5-2.5% แม้มีงบกลางปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 52 เหลือ 1.5-2.5% จากที่เคยคาดในระดับ 2.5-3.5% แม้จะคาดหมายว่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐน่าจะมีโอกาสขยายตัวในระดับที่สูงขึ้น จากการขยายวงเงินงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดทางการคลังอาจเป็นสาเหตุให้มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสร้างผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนได้ในวงกว้าง แนวโน้มในระยะไตรมาสข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจึงคงจะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิคไปได้ยาก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/51 จะมีอัตราการเติบโตติดลบ 0.5% เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักหน่วงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในตลาดภูมิภาคหลัก รวมทั้งผลกระทบจากการบินสนามบิน 2 แห่ง ซึ่งทำให้ทั้งปี 51 ต้องปรับลดประมาณการจีดีพีมาเหลือเติบโต 3.6% จากเดิมคาดที่ 4.0-4.3%

ภาวะเศรษฐกิจจะหดตัวต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นในไตรมาส 1/52 โดยครึ่งแรกของปี 52 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยติดลบ 0.1-0.2% ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสถัดไปขึ้นอยู่การขับเคลื่อนของกลไกภาครัฐว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเป็นแรงส่งให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่น ๆ เดินเครื่องไปสู่การฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ได้มากน้อยเพียงใด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะเครื่องชี้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำสะท้อนสัญญาณที่น่าวิตกมากขึ้นในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ทั้งภาวะการผลิต การจ้างงาน และผลประกอบการของธุรกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีโอกาสถดถอยลงลึกมากขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ต้องใช้เวลาอีกนาน

ขณะเดียวกัน จากมรสุมเศรษฐกิจที่รุมเร้าภายในประเทศ ส่งผลให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคเอกชนทั้ง 3 ด้าน คือ การบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ อ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และภายใต้กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 52 คาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะขยายตัวในระดับต่ำยู่ที่ 0.5-1.2 % จากที่คาด 2.1% ในปี 51

ส่วนการลงทุนโดยรวมอาจจะติดลบระหว่าง 1.4-3.4% จากที่คาดว่าขยายตัว 1.5% ในปีก่อน การส่งออกอาจจะติดลบ 3-7% จากที่คาดว่าขยายตัว 17.2% ในปี 51 แต่การนำเข้ามีแนวโน้มลดลงในอัตราที่รุนแรงกว่าด้านการส่งออก เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงอย่างมาก จึงส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะพลิกกลับมาเกินดุลจากที่ขาดดุลเล็กน้อยในปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ