ครม.ศก.อนุมัติขอรัฐใช้วงเงิน 1.2 หมื่นลบ.ขยายรับจำนำข้าวโพด-ปาล์ม-ยางฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 18:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงษ์ ปุณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเห็นชอบขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร 3 รายการซึ่งยังมีปัญหาที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือในวงเงินไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทรวงพาณิชย์ขอเพิ่มปริมาณรับจำนำอีก 2.5 แสนตัน ในวงเงิน 2,125 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการ 186 ล้านบาท, ปาล์มน้ำมัน ขอเพิ่มปริมาณรับจำนำอีก 2 แสนตัน ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท แต่ครม.เศรษฐกิจอนุมัติเพียง 1 แสนตัน ที่วงเงิน 2,500 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 500 ล้านบาท และยางพารา ขอเพิ่มปริมาณการรับจำนำอีก 1 แสนตัน ในวงเงิน 4,000 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 200 ล้านบาท

ทั้งนี้คาดว่ารัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณในการอุดหนุนสินค้าเกษตรดังกล่าวเพื่อชดเชยดอกเบี้ยจากการจัดหาแหล่งเงินในโครงการไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการจะขยายเวลารับจำนำออกไปอีก 3 เดือน และเตรียมจะนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า(20 ม.ค.)

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่า วงเงินที่ขอเพิ่มในโครงการรับจำนำอาจจะปรับลดได้อีก ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสม ส่วนการจัดหาแหล่งเงินในโครงการเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา โดยครม.เศรษฐกิจมอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ไปจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ถือว่าสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ

สำหรับงบประมาณในโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรเดิมทั้งหมด 1.1 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังเหลืออยู่ไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท เห็นว่าที่ต้องขอขยายปริมาณการรับจำนำเพิ่มเติมเนื่องจากวงเงินเดิมยังจำเป็นต้องใช้ดูแลราคาสินค้าเกษตรต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงเป็นการเพิ่มความปลอดภัยเรื่องงบประมาณและปริมาณรับจำนำ

นายอำพน กล่าวด้วยว่า ในระหว่างการประชุมวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ในการวางแนวทางระยะยาวเพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตรด้วยการประกันภัยพืชผลและการรับจำนำสินค้าเกษตรบางประเภทเท่านั้น โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังกลับไปศึกษาแนวทางดังกล่าวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ