นักวิเคราะห์มองหลากปัจจัยเอื้อ กนง.ลดดอกเบี้ยอีกกว่า 0.5% รอบ ก.พ.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 15, 2009 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)(KGI)คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งต่อไปในวันที่ 25 ก.พ.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% มาสู่ระดับ 1.5% หลังจากวานนี้ได้ลดลงมาแล้ว 0.75% ที่อยู่ที่ 2.0% โดยมองว่า กนง.จะเริ่มลดดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลง แต่ยังลดอยู่ เพื่อลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอแรง

ส่วนในไตรมาส 2/52 คาดว่าจะเข้าสู่ช่วงที่ กนง.รอดูผลจากการลดดอกเบี้ย รวมทั้งมาตรการกระตุ้นภาคการคลังว่าจะช่วยพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจของไทยได้มากน้อยเพียงใด หากเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นสำหรับช่วงครึ่งปีหลัง ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่า 1.5% แล้ว

โดยเมื่อจบรอบการลดดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR จะปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 6% ต้นๆ จากปัจจุบันที่ 6.75% แต่น่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่มากกว่า เพื่อธนาคารจะได้บริหารจัดการส่วนต่างดอกเบี้ยได้ในช่วงที่สินเชื่อชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายการเงิน การธนาคาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า มีความเป็นไปได้มากที่การประชุม กนง.รอบหน้าจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.5% เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยในประเทศแล้วยังมีโอกาสที่จะเป็นไปในทิศทางนี้

เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีโอกาสชะลอลงแรง โดยคาดว่า GDP ไตรมาส 1/52 อาจจะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาจากเดือนธ.ค.51 และอาจเห็นเงินเฟ้อติดลบได้ในบางเดือนของช่วงครึ่งปีแรกนี้

"มองว่า กนง.คงยังมี room ให้ลดดอกเบี้ยได้อีก น่าจะลดใกล้เคียงกับเมื่อวานนี้ คือลดไม่ต่ำกว่า 0.50% อาจจะไปถึง 0.75% ก็ได้ แต่ขอรอประเมินสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงใกล้ๆ ประชุม กนง.ในครั้งหน้าให้ชัดเจนก่อน" น.ส.เกวลิน ระบุ

พร้อมมองว่า ปีนี้ กนง.คงจะยุติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับ 1.25% และในครึ่งปีหลังคาดว่า กนง.คงจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.25% จนถึงสิ้นปี โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะได้ประเมินและติดตามผลจากการที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายการคลังตามที่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงินที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาว่าจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ