สนข.ดันสร้างรถไฟเชื่อมแอร์พอร์ตลิ้งค์เข้าดอนเมือง มูลค่า 1.5 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 15, 2009 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 งานออกแบบรายละเอียดโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมดอนเมือง-ยานสุวรรณภูมิว่า โครงการการนี้จะเชื่อมต่อจากโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ตเรลลิงค์)เพื่อให้การเดินทางระหว่างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ จะมีระยะทาง 21 กม. โดยเส้นทางจะเริ่มจากพญาไท และมีแนวเส้นทางเรียบไปกับรถไฟสายสีแดง ผ่านสถานีรถไฟจิตรดา สถานีบางซื่อ บางเขน หลักสี่ และท่าอากาศยานดอนเมือง คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างเฉพาะงานโยธา 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายบริหารท่าอากาศยานเดียว (SINGLE AIRPORT) นั้น ส่งผลกระทบกับปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างสนามบินทั้งสองแห่งลดลงบ้าง แต่ในอนาคตเชื่อว่าระบบขนส่งทางรถไฟยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เพราะท่าอากาศยานดอนเมืองต้องมีการใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำหรือกิจกรรมการบินอื่นๆ ดังนั้นการเดินทางเข้าออกท่าอากาศยานดอนเมืองก็ยังคงมีอยู่ ขณะที่ประชาชนที่อาศัยโดยรอบท่าอากาศยานดอนเมืองก็ยังมีการเดินทางเข้าเมืองและไปใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟเชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิที่ใช้แนวเดียวกับรถไฟสายสีแดงนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นการซ้ำซ้อน เพราะโครงการรถไฟสายสีแดงจะรองรับการเดินทางจากชานเมืองเข้ากรุงเทพฯ และจะใช้รางขนาด 1 เมตร แต่รถไฟเชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิจะรองรับการเดินทางในเมืองที่ต้องการความเร็ว โดยจะมีบริการ 2 ส่วน คือ แบบจอดเฉพาะสถานีต้นทาง-ปลายทาง และจอดทุกสถานี และจะใช้รางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร

นายประณต ยังกล่าวอีกว่า ในการดำเนินโครงการจะมีการเวนคืนที่ดินบริเวณแนวเส้นทางบางส่วน โดยบริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมี 2 ช่วง คือ 1.บริเวณยมราช ด้านหลังกรมทางหลวง และ2.บริเวณราชวิถี-สามเสน ซึ่งตามหลักการนั้นได้เน้นย้ำให้ใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับประชาชน

ด้านผู้แทนจากโรงเรียนสัตย์สงวนวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนตั้งอยู่บริเวณสามเสน ซึ่งตามแผนจะถูกเวนคืนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งตนเสนอให้ใช้พื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียน เนื่องจากเป็นที่ว่างขนาดใหญ่ แต่หากยืนยันที่จะใช้พื้นที่ที่ก่อตั้งโรงเรียนก็จะคัดค้านถึงที่สุด เพราะจะกระทบต่อการประกอบอาชีพและนักเรียน ขณะที่ส่วนตัวเคยถูกเวนคืนที่ดินมาแล้ว พบว่าได้รับเงินชดเชยน้อยมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีประชาชนแสดงความคิดเห็นหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมระหว่างก่อสร้าง เช่น ปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างก่อสร้าง ปัญหาน้ำท่วมผิวจราจรระหว่างก่อสร้าง รวมทั้งเสนอแนะให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกๆ ต่าง เช่น จัดทำทางเลื่อน ที่จอดรถสาธารณะ ส่วนปัญหาที่ชุมชนกังวลคือ การย้ายออกจากพื้นที่ และผลกระทบที่จะมีต่อการประกอบอาชีพของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ