นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ก.คลังเตรียมนำเสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นมาตรการสมทบต่อเนื่องจากการจัดทำงบกลางปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 1.167 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาตรการภาษีที่จะนำเสนอ ได้แก่ มาตรการภาษีภาคอสังหาริมทรัพย์ เบื้องต้นจะให้เงินต้นมาหักลดหย่อนภาษี ไม่ใช่เพิ่มหักค่าลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านเหมือนที่เคยทำมา
"งบกลางปี 1.167 แสนล้านบาท หากเบิกจ่ายได้จริงจะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มอีก 1%" นายกรณ์ กล่าวในหัวข้อ"นโยบายการคลังในภาวะเศรษฐกิจถดถอย"ในงาน Post Forum 2009
มาตรการดังกล่าวจะมีผลต่อการซื้อบ้านในทุกระดับราคา แต่จำกัดสิทธิเฉพาะผู้ซื้อบ้านในปี 52 เพื่อต้องการเกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้านและมีความพร้อมทางการเงินได้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น หวังผลในการเพิ่มการก่อสร้าง และส่งผลต่อการจ้างแรงงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวมีผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐไม่มากเกินไป
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เป็นการปรับลดอัตราภาษี ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็๋นประโยชน์ในทุกภาคส่วน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้ โดยรัฐบาลจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
"ภาษีทุก 1 หมื่นล้านบาทที่ส่งถึงประชาชนจะช่วยดันจีดีพีโต 0.6%" นายกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันจะเห็นด้วยกับแนวทางการปรับลดรายได้นิติบุคคลจาก 30% เป็น 25% แต่จังหวะเวลาในขณะนี้ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากมองว่าแม้จะปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลในขณะนี้จะยังไม่มีผลให้นักลงทุนเกิดการลงทุนมากขึ้น แต่กลับทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ถึง 6 หมื่นล้านบาทต่อปีโดยเปล่าประโยชน์
ทั้งนี้ รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม( VAT)ที่ยังไม่มีแนวคิดลดลงในช่วงนี้เช่นกัน เนื่องจากไม่มั่นใจว่า การลดภาษี VATจะทำให้ราคาสินค้าลดลง และจะทำให้ประชาขนเพิ่มการใช้จ่ายหรือไม่
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านช่องทางการปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐจำนวน 3 แสนล้านบาทจะช่วยดันจีดีพีเพิ่มอีก 0.2%, การเร่งรับการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการ 1.84 ล้านล้านบาท งบของรัฐวิสาหกิจ 3.08 แสนล้านบาท และงบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 3.66 แสนล้านบาท
"วงเงินงบประมาณที่เร่งรัดเบิกจ่ายทุก 2.5 หมื่นล้านบาทจะช่วยดันจีดีพีให้โต 0.1%" นายกรณ์ กล่าว
เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็คต์ 1.7 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการขนส่งสาธารณะ โครงการแหล่งน้ำ หากเร่งรัดการเลิกจ่ายได้ทุก 2.54 หมื่นล้านบาทจะช่วยทำให้จีดีพีโตได้อีก 0.1%
ส่วนการดำเนินงานด้านโครงการเมกะโปรเจ็คต์นั้น คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามดูแลการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีงบลงทุนสูงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดความล่าช้ามากกว่าโครงการอื่นๆ
รมว.คลัง เชื่อว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาทั้ง 5 ด้านจะครอบคลุมประชาชนในทุกภาคส่วน
ในปีงบประมาณ 52 รัฐบาลได้กำหนดมีเพดานการกู้เงินสูงสุดจำนวน 621,446 ล้านบาท ซึ่งจะมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% แยกเป็น การชดเชยการขาดดุล 437,940 ล้านบาท, เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 183,500 ล้านบาท
แต่วงเงินที่รัฐบาลมีแผนกู้แล้วมีจำนวน 527,990 ล้านบาท แยกเป็นการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 249,500 ล้านบาท, เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 29,750 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 132,000 ล้านบาท และมีงบกลางปีเพิ่มเข้ามา 116,700 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินที่สามารถกู้ได้อีก 93,450 ล้านบาทภายใต้เพดานกู้เงินดังกล่าว