แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า สภาพัฒน์เตรียมนำเสนอมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 ม.ค.นี้ หลังจากที่ได้ร่วมหารือหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปมาตรการที่จำเป็นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม
ชุดมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเวลา 3 เดือน คาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ที่นำมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการของกรมการกงศุล จึงเสนอขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณเข้ามาชดเชยไม่เกิน 800 ล้านบาท เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมวีซ่าประมาณ 60% จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของอี-พาสปอร์ต, ค่าบริหารจัดการและค่าซ่อมแซมอาคาร ส่วนที่เหลืออีก 40% ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน
การลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของอากาศยาน (แลนดิ้ง ฟี) และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (พาร์คกิ้งฟี) 50 % โดยในส่วนของสนามบินที่อยู่ภายใต้กรมการขนส่งทางอากาศสามารถดำเนินการได้ทันที แต่ในส่วนสนามบินที่อยู่ภายใต้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.หรือ AOT) คงต้องให้กลับไปนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติก่อน
การยกเว้นการเก็บค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติ 50% ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้มีการยกเว้น 2 ปี การจัดเก็บรายได้จะหายไปถึง 250-500 ล้านบาท แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรจะยกเว้นเพียง 6 เดือน เพราะหากระยะเวลานานเกินไปจะส่งกระทบการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและขวัญกำลังใจต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน
นอกจากนั้น ยังมีการลดข้อกำหนดในการจ่ายค้ำประกันการใช้ไฟฟ้า 2 เดือนนั้น ทางเอกชนได้ลดหย่อนเหลือ 1.25 เดือนของค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน
"1.25 เป็นนโยบายที่รับได้ ถ้าลดมากกว่านี้ มีความเสี่ยง" แหล่งข่าวจากสภาพัฒน์ กล่าว
สำหรับการร้องขอให้ยกเว้นค่าภาษีโรงเรือนสำหรับธุรกิจโรงแรมในปีนี้ กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถยกเว้นให้ได้ เนื่องจากเป็นรายได้หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) แต่ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนสามารถเจรจากับ อปท.เพื่อขอความช่วยเหลือเป็นรายกรณี
รวมทั้งการชะลอเก็บค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมห้องละ 80 บาท ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่อาจจะมีการแก้ไขกระทรวงมหาดไทยเพื่อยกเว้นให้ เช่นเดียวกับกรณีการขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมสนามบิน อาจเป็นเป็นยุ่งยากและส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะปัจจุบันค่าธรรมเนียมสนามบินได้คำนวณรวมกับค่าโดยสารเครื่องบินที่ได้จำหน่ายไปทั่วโลกไปแล้ว
ส่วนข้อเสนออื่น ๆ อีก 6 ข้อที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯเสนอ ทั้งการลดหย่อนค่าตั๋วเครื่องบิน, ให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนามาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า, การให้สถาบันการเงินยืดเวลาชำระเงินต้นออกไปอีก 3 ปีและคิดดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี สำหรับธุรกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้, การขอผ่อนชำระเงินได้นิติบุคคลเดือน พ.ค. และ ส.ค. 52 ไปอีก 6 เดือนโดยไม่คิดค่าปรับ ยังต้องนำไปพิจารณาในรายละเอียดก่อน