ไลออน โกลบอล อินเวสเตอร์ส บริษัทบริหารกองทุนในสิงคโปร์มองว่า พันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ในภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่น่าลงทุน หลังจากที่ดีดตัวขึ้นอย่างคึกคักเมื่อช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป
ดัชนี EMBI+ ของเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ระบุว่า ความต้องการผลประโยชน์ตอบแทนนักลงทุนจากตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่นั้นอยู่ที่ 6.79% ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีเมื่อเดือนต.ค.ที่ 8.65% ค่าสเปรดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ในช่วง 5 ปีก่อนที่เลห์แมน บราเธอร์ส จะล้มละลายเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว
แดเนียล ชาน ซีอีโอของไลออน โกลบอล กล่าวว่า ค่าสเปรดสินเชื่อของเอเชียปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ก็ยังมีค่าอยู่สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ และพอใจกับรัฐบาลและตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์ในเกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
การล้มละลายของเลห์แมนทำให้นักลงทุนสหรัฐและยุโรประดมเงินสดด้วยการขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ออก ส่งผลให้ดัชนี MSCI Asia Pacific Index ซึ่งไม่นับรวมญี่ปุ่น อ่อนตัวลงถึง 53% ในปีที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีดาวโจนส์ที่ปรับตัวลง 34% ธนาคารต่างๆในเอเชียต่างก็พยายามป้องกันไม่ให้องค์กรได้รับความเสียหายจากการขาดทุนในตลาดสินเชื่อหลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลได้ปรับปรุงกฎระเบียบการปล่อยเงินกู้ที่เข้มงวด หลังจากที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
ชานกล่าวต่อไปว่า ตราสารหนี้ในตลาดเอเชียถูกเทขายไปมากกว่าตลาดสหรัฐและยุโรป แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานในเอเชียจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่า แบงค์และบริษัทเอกชนในเอเชียก็อยู่ในสภาพที่ดีกว่าหลังจากที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
บริษัทไฟแนนซ์ในเอเชียขาดทุน 3 พันล้านดอลลาร์ในตลาดสินเชื่อนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขาดทุนทั่วโลกที่ 1.04 ล้านล้านดอลลาร์ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะชะลอตัวลงเหลือ 4.5% ในปีนี้ จากระดับ 6.3% ในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่รวดเร็วกว่าอัตราการขยายตัวทั่วโลกที่ 0.9% บลูมเบิร์กรายงาน