พาณิชย์มอบ ผบ.ตร.นำทีมตรวจทุจริตจำนำข้าวโพด จับตา 10 จ.เสี่ยงสวมสิทธิ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 19, 2009 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการกำกับการรับจำนำโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 51/52 โดยมีพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำใน 10 จังหวัด ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้

สำหรับ 10 จังหวัด ที่มีปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าโครงการรับจำนำในปริมาณมากและคาดว่าอาจจะมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำของรัฐบาล คือ เพชรบูรณ์, ตาก, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, เชียงใหม่, เชียงราย, ชัยภูมิ, เลย, น่าน และ นครราชสีมา

รมช.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นควรให้เพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 250,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติรับจำนำเพิ่มอีก 250,000 ตัน เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.51 และจะสิ้นสุดโครงการเดือนก.พ.นี้ คิดเป็นปริมาณที่รัฐเปิดรับจำนำทั้งสิ้นรวม 1 ล้านตัน

มาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะเพียงพอต่อการรองรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหลืออยู่ในตลาดขณะนี้ประมาณ 2 ล้านตันตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยังคงรับจำนำราคาเดิมที่ 8.50 บาท/กก. ใช้งบประมาณอีก 2,125 ล้านบาท และจะเสนอให้นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ พิจารณาเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้

การรับจำนำครั้งใหม่จะมีหลักเกณฑ์เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดให้เกษตรกรนำข้าวโพดมารับจำนำต่อคนไม่เกิน 100,000 บาท หากเกินจะให้ค้างชำระไว้ก่อน เพื่อรอการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเป็นประธานว่าปริมาณส่วนเกินมีอยู่จริงหรือไม่ รวมทั้งกำหนดโควตารับจำนำของแต่ละจังหวัดตามฐานการผลิตจริง

รวมทั้งจะเสนอให้ รมว.พาณิชย์ ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) เพื่อกำหนดให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าควบคุมในจังหวัดชายแดนทุกจังหวัด เพื่อป้องกันการขนย้ายข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ในโครงการรับจำนำ โดยผู้ที่จะขนย้ายจะต้องขออนุญาตจากภาครัฐก่อน

"ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาข้าวโพดสวมสิทธิ์เข้าโครงการจำนำมาก อย่าง 10 จังหวัดที่ถูกตรวจสอบ มีการแจ้งปริมาณเข้าโครงการสูงเกินจริง เกษตรกรตัวจริงของไทยไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำเลย" นายอลงกรณ์ กล่าว

สำหรับปัญหาการนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเข้าสู่โครงการรับจำนำนั้น มาจากการทำคอนแทรกต์ ฟาร์มมิ่งของเอกชนไทยใน 3 ประเทศคือ พม่า, ลาว และกัมพูชา และทำให้ปริมาณผลผลิตในปี 51 เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าจาก 100,000 ตันเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และรัฐบาลไม่ได้เปิดรับจำนำข้าวโพดจากโครงการคอนแทรกต์ ฟาร์มมิ่ง แต่มีพวกหัวใสต้องการส่วนต่างที่มากขึ้น เพราะราคาข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้าน 3-4 บาท/กก. แต่โครงการรับจำนำได้ราคาถึง 8.50 บาท/กก.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ