นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้พิจารณาทบทวนการกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า)เพื่อนำมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(ช่วงส่วนต่อขยายหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค) ระยะทาง 27 กม. วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากเงื่อนไขที่ทางไจก้าระบุไว้ไม่คล่องตัว โดยเฉพาะกำหนดผู้รับเหมาญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้รับเหมาหลัก และต้องซื้ออุปกรณ์จากญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง หรืออย่างน้อย 30% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งไม่ตรงกับมติคณะรัฐมนตรีที่เคยกำหนดไว้ และอาจขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย จึงต้องเสนอให้ ครม.ตัดสินใจว่าจะใช้เงินกู้แหล่งใดมาทดแทน
"ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ครม.จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะต้องทบทวนว่าจะต้องหาแหล่งเงินกู้ใหม่ หรือเจรจาปรับลดเงื่อนไขของไจก้า ส่วนแหล่งเงินกู้ใหม่จะเป็นการกู้เงินในประเทศหรือต่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลัง" นายโสภณ กล่าว
รวมทั้งจะมีการเสนอให้ ครม.ตัดสินใจด้วยว่า จะให้หน่วยงานใดรับผิดชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเบื้องต้นคงจะให้ ทั้ง 2 หน่วยงานไปหารือกันก่อน เพื่อที่จะสรุปว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 25 กม.
อย่างไรก็ตาม นายโสภณ เห็นว่า รฟม. เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบดำเนินโครงการ แต่ที่ผ่านมา กทม.มีความต้องการที่จะดำเนินการ จึงให้ไปเจรจากัน และมั่นใจว่าจะไม่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า
"การให้ รฟม.ไปคุยกับ กทม.นั้นไม่ใช่เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่เห็นว่าหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง ก็เหมือนคนไทยที่มีปัญหาติดขัดก็ต้องพูดคุยกัน และเชื่อว่าไม่ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดำเนินโครงการประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น" นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ ยังกล่าวอีกว่า ได้สั่งเร่งรัดให้ รฟม.ศึกษาแนวทางการจัดทำตั๋วร่วม ซึ่งจะสามารถใช้ได้ทั้งระบบรถไฟฟ้า และรถเมล์ โดยเห็นว่าหากสามารถผลักดันให้เกิดได้ ก็จะเป็นประโยชน์โดยรวม โดยเฉพาะโครงการจัดหารถโดยสารใช้เอ็นจีวีจำนวน 4,000 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่นายเยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว รักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ภายในเดือนเม.ย.นี้ รฟม.จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการเปิดซองราคาสัญญาที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ประมาณเดือนมิ.ย.นี้ เพราะต้องรอความชัดเจนเรื่องแหล่งเงินกู้
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ใช้เงินกู้จากไจก้ากับแหล่งเงินกู้อื่นค่อนข้างใกล้เคียงกัน เพราะเมื่อใช้เงินกู้ไจก้าจะต้องเพิ่มเงินลงทุนในส่วนของระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขเงินกู้ ประกอบกับเงื่อนไขที่กำหนดให้บริษัทผู้รับเหมาและผู้ให้บริการจะต้องมีบริษัทญี่ปุ่นเป็นบริษัทหลักและกรณีที่เป็นบริษัทร่วมทุน บริษัทหลักจะต้องเป็นบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น อาจจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ฮั้ว ที่ไม่เปิดแข่งขันโดยเสรี
"ในทางเทคนิคเมื่อใช้รถไฟฟ้าจากญี่ปุ่น ก็ต้องใช้อุปกรณ์และอะไหล่ของญี่ปุ่นด้วย ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ ขณะเดียวกันเงินลงทุนก่อสร้างต้องเพิ่มขึ้นจากการต้องก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเพิ่มอีกประมาณ 4 พันล้านบาท เพราะระบบรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นไม่สามารถใช้ร่วมกับระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบัน" แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการเดินทางของประชาชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะอาจต้องมีการเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถเดินรถในโครงการส่วนต่อขยายได้