กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจใช้มาตรการฟื้นฟูภาคการเงินก็เพราะต้องการควบคุมระบบการเงินภายในประเทศให้มีความรัดกุมมากขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงการรับประกันสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและเปิดทางให้ธนาคารกลางอังกฤษมีสิทธิอำนาจในการเข้าซื้อหุ้นในสถาบันการเงินภายในประเทศ
กระทรวงการคลังให้สิทธิอำนาจแก่ธนาคารกลางอังกฤษในการเข้าซื้อสินทรัพย์มูลค่า 5 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และวางแผนที่จะเพิ่มการถือครองหุ้นในธนาคารรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ เป็น 6 พันล้านปอนด์ อีกทั้งเข้าซื้อหุ้นอีกหลายพันล้านปอนด์ในสถาบันการเงินที่ถูกกระทบจากภาวะผันผวนในตลาด
บราวน์กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ว่า "มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นอัตราการกู้ยืมและทำให้ทางการอังกฤษเข้าถือครองหุ้นในสถาบันการเงินอย่างถูกกฎหมาย ผมยืนยันว่าการดำเนินการเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและภาคเอกชน ที่ผ่านมาผมไม่พอใจที่สถาบันการเงินที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะตึงตัวด้านการกู้ยืม ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยลงรุนแรงสุดนับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2"
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่สองของอังกฤษถือเป็นการสานต่อจากมาตรการฉบับแรกที่ประกาศใช้เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงการอัดฉีดเงินทุน 5 หมื่นล้านปอนด์ให้กับธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ และขยายวงเงินกู้ 2.50 แสนล้านปอนด์ให้กับธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม แดนนี กาเบย์ อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางอังกฤษ และผู้อำนวยการของบริษัท ฟาธอม ไฟแนนเชียล คอนซัลติ้ง กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐบาลในขณะนี้ก็คือการยึดทรัพย์สมบัติของเอกชนเป็นของชาติอย่างช้าๆนี่เอง ระบบการรับประกันที่จะมีการนำออกมาใช้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ก็จริง แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่าต้นเหตุ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน