นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พ.ย.51 มีจำนวน 3,415,564 ล้านบาท หรือร้อยละ 37 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP)
หนี้สาธารณะ แยกเป็น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,127,405 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,021,712 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 119,937 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 138,194 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,316 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 6,934 ล้านบาท โดยหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้น 19,845 ล้านบาท สำหรับหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 3,121 ล้านบาท 9,785 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง
"การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 19,845 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นในส่วนของหนี้ในประเทศ รายการที่สำคัญเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 17,270 ล้านบาท" นายพงษ์ภาณุ ระบุในเอกสารเผยแพร่
สำหรับหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงลดลงสุทธิ 3,121 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการปรับลดระดับตั๋วเงินคลังจำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะดุลเงินสดของรัฐบาลในเดือนดังกล่าว และรัฐบาลได้ทำการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท
ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินลดลงสุทธิ 9,785 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง 11,505 ล้านบาท
ทั้งนี้ แยกหนี้สาธารณะเป็นหนี้ต่างประเทศ 404,499 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.84 และหนี้ในประเทศ 3,011,065 ล้านบาท หรือร้อยละ 88.16 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,308,222 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.86 และหนี้ระยะสั้น 107,342 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.14 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง