ครม.อนุมัติมาตรการภาษีชุดใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจทำรัฐรับภาระราว 4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 20, 2009 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง แถลงมาตรการภาษีชุดใหญ่เพื่อสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาครัฐต้องเข้ามารับภาระแทนประชาชนราว 4 หมื่นล้านบาท โดยจะเกี่ยวข้องกัลภาคอสังหาริมทรัพย์ ,ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME), วิสาหกิจชุมชน ,การท่องเที่ยว ,ธุรกิจเงินร่วมลงทุน, การปรับโครงสร้างหนี้ และการโอนกิจการบางส่วน

ทั้งนี้ มาตรการภาษี เพื่อลดรายจ่ายทางภาษี สนับสนุนการใช้จ่ายในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการปรับโครงสร้าง จะทำให้รัฐบาลสูญเสยรายได้กว่า 40,000 ล้านบาท แยกเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ 36,500 ล้านบาท ภาคธุรกิจ SME 1,400 ล้านบาท วิสาหกิจชุมชน 200 ล้านบาท และภาคการท่องเที่ยว 1,800 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีทีเกี่ยวข้องกับเงินร่วมลงทุน และการปรับโครงสร้างหนี้

มาตการภาษีภาคอสังหาริมทรัพย์ จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และโอนภายในปี 52 วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท คงสิทธิดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 1 แสนบาท และการต่ออายุการลดค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีหักณ ที่จ่าย จาก 3.3%เหลือ 0.11% ถึง มี.ค.53

ทั้งนี้เพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในปี 52 ลดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ซื้อบ้านหลังแรกและผู้ประกอบการ ข่วยให้เกิดการใช้สภาพคล่องส่วนเกินของสถาบันการเงิน ลดผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีผู้โอนที่อยู่อาศัยใหม่ 1 แสนแห่ง โดยรัฐบาลสูญเสียรายได้จากการลดค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีภาคอสังหาริมทรัพย์ 30,000 ล้านบาท ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 6,500 ล้านบาท แต่จะมีภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น

มาตการภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องมาคำนวณภาษีในอัตรา 0.5% จาก 60,000 ล้านบาท เป็น 1 ล้านบาท ช่วยลดผลกระทบจากภาระค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และยังเป็นการขยายวงเงินยกเว้นภาษี จาก 300บาท/ปี เป็นที่เกินกว่า 5,000 บาท/ปี โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ 9.7 แสนราย

มาตรการภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน เป็นการเพิ่มเพดานวงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี จาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท สำหรับเงินได้ในปี 52-53 ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้แก่ประชาชน และสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ประโยชน์ 58,000 แห่งทั่วประเทศ

มาตรการภาษีด้านการท่องเที่ยว โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาในประเทศ (ค่าห้องพัก และค่าห้องสัมมนา) มาหักภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายในรอบปีบัญชี 52 ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงธุรกิจโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร โดยคาดว่ารัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,800 ล้านบาท

มาตรการภาษีสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุน เป็นการขยายเวลาการขึ้นทะเบียนนิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital) ถึง วันที่ 31 ธ.ค. 54 และยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนต้องนำเงินไปลงทุนใน SME ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนจดทะเบียนในปีแรก และยกเว้นภาษีเงินได้แก่ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นของ SME ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวของ SME และพัฒนาตลาดทุนไทย หาก SME เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเว้นภาษีสำหรับเงินได้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่นๆ ให้เจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนสินทรัพย์ การขายสินค้า และการกระทำจากการปรับโครงสร้างหนี้ การโอนสินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น โดยลูกหนี้ต้องนำเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องจากการโอนกิจการบางส่วน โดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรมที่ดิน ที่เกิดจากการโอนกิจการบางส่วน แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทมหาชน หรือ บริษัทจำกัด โดยการโอนต้องแล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 52 ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ และลดภาระค่าใช้จ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ