นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์การพยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะของประชาชนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่า ประชาชนยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมารอบแรกผ่านงบกลางปี 115,000 ล้านบาท โดยคนส่วนใหญ่แม้จะเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลแต่ไม่แน่ใจว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลจึงรอผลการกระตุ้นให้เป็นรูปธรรมก่อน
ทั้งนี้ทัศนะต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่ 44.4% เห็นว่ากระตุ้นได้ปานกลาง โดยคนทุกภาคส่วนใหญ่ยังมั่นใจในระดับปานกลางถึงมั่นใจน้อย มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่มั่นใจว่านโยบายของรัฐจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่พฤติกรรมการบริโภค การซื้อสินค้า หลังออกมาตรการของรัฐบาลนั้น คนส่วนใหญ่ยังไม่ตอบสนองมากนัก โดย 60.2% บอกว่าจะใช้จ่ายเท่าเดิม ส่วนที่บอกว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นมี 30.1%
นอกจากนี้คนส่วนใหญ่มองว่ามาตรการเหล่านี้จะได้ผลปานกลาง 42.3% ส่วนที่เห็นว่าได้ประโยชน์มากถึงมากที่สุดรวม 17.6% และที่เหลือ 39.4% มองว่าได้ผลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะเดียวกันประชาชน 48.4% ไม่แน่ใจว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ทำตรงจุดหรือไม่ ส่วนที่เห็นว่าถูกจุดมี 28.9% และไม่ถูกจุด 22.8%
"ผลสำรวจทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าคนเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่ยังไม่มีพฤติกรรมที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าไตรมาสแรกเศรษฐกิจยังชะลอตัว และน่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 แต่จะกลับมาฟื้นได้ชัดเจนในไตรมาส 3 ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลควรกระตุ้นด้วยการทำนโยบายให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และคาดว่าตลอดปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 2-2.5% ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ออกมาต่อเนื่อง" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับนโยบายที่คนชื่นชมสูงสุด คือ เรียนฟรี 15 ปี รองลงมาเป็นเบี้ยยังชีพคนชรา, กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง, พัฒนาแหล่งน้ำทางการเกษตร, จำหน่ายสินค้าราคาถูก, การต่ออายุมาตรการ 6 เดือน
ส่วนนโยบายที่คนพอใจน้อยสุด คือ การช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท แก่พนักงานเอกชนและบุคลากรของรัฐที่ได้เงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท และการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน โดยช่วยเหลือเงินเดือนละ 5,000 บาท ในช่วง 6 เดือน