ก.อุตฯรับ 8 ข้อเสนอส.อ.ท.เร่งดำเนินการให้เห็นผลกระตุ้นศก.ใน 3-6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2009 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) รัฐบาลพร้อมรับข้อเสนอเร่งด่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ทั้ง 8 ข้อ ไปดำเนินการให้เห็นผลภายใน 3-6 เดือน ได้แก่ การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ซึ่งจะสรุปแนวทางการทำงานภายใน 15 วัน ,เร่งสร้างภาพลักษณ์ และสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของชุมชนและอุตสาหกรรม , เร่งจัดการทรัพยากรน้ำ

การเร่งรัดติดตามแก้ไขประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคของภาคอุตสาหกรรม เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ, พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าไปลงทุนของภาคเอกชน, เร่งรัดการส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต้นน้ำ-ปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ,แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าให้เกิดความรวดเร็ว และเร่งจัดการด้านพลังงานเพื่อลดต้นทุน

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ถือเป็นคลังสมองของภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลจึงต้องการให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลพร้อมสนับสนุนด้านนโยบาย มาตรการและงบประมาณ โดยได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ไปปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ ซึ่งยืนยันว่าสิทธิประโยชน์จะไม่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ

นายชาญชัย ยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ปล่อยให้มีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือ หรือเส้นทางการขนส่งสินค้า จนเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะจะมีการจัดตั้งระบบโลจิสติกส์ที่เป็นมาตรฐานสากลมาอำนวยความสะดวก และกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม และกระทรวงคมนาคม จะร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้มีการปิดสถานที่สำคัญจนส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน

ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากภาครัฐและเอกชนมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความเชื่อมั่นและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับมาภายในสิ้นปีนี้ ส่วนงบประมาณกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ครั้งที่ออกมา มองว่ายังมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs ไม่เพียงพอ ซึ่งภาคเอกชนจะร่วมกันหารือเพื่อเสนองบประมาณสำหรับการกระตุ้น SMEs ไปยังรัฐบาลอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งทีมงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาแนวทางในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนในประเทศ กับโครงการเมกะโปรเจกส์ ทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์ เพื่อใช้ชิ้นส่วนในประเทศแทนการนำเข้า ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่การส่งออกลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ