นักวิชาการเสนอความเห็นต่อนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ผ่านเวทีศุกร์เศรษฐกิจกับรัฐมนตรีกรณ์ ในหัวข้อ "ถกแผนเศรษฐกิจยกหนึ่ง คิดไปถึงแผนสอง" โดยนักวิชาการส่วนใหญ่สนับสนุนแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พร้อมเสนอแนะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนจน แก้ปัญหาแรงงาน เร่งสร้างความเชื่อมั่น และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ติงบางนโยบายยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ทั้งนี้ นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งในการสร้างความเชื่อมั่นและการสร้างเสถียภาพเศรษฐกิจ โดยจะต้องไม่สร้างภาระการคลัง จนกลายเป็นหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น
หากมองภาพเศรษฐกิจปี 52 แบบเลวร้ายสุด เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเป็น 0% ขณะที่รัฐบาลขาดดุลงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5.5% ต่อจีดีพี และหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 42% ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2553 เชื่อว่ารัฐบาลอาจทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง แต่คงไม่มากเท่าปี 52
นางอัจนา กล่าวว่า ในแผน 2 ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรจะเน้นให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น จัดโครงการฝึกอบรมแรงงาน ส่วนสภาพคล่อง เห็นว่าควรจะเลิกการพูดถึงส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก(สเปรด)แต่ควรให้ความสำคัญ เรื่องการมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ เพราะขณะนี้ความเสี่ยงในการให้สินเชื่อมีสูงขึ้น
รัฐบาลควรที่จะวางแนวทางเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ โดยมี่ต้นทุนความเสี่ยงต่ำ โดยในต่างประเทศจะใช้ระบบการค้ำประกันสินเชื่อ ดังนั้นในส่วนของไทย สามารถดำเนินการได้ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามารับความเสี่ยง 80 ต่อ 20 กับ ธนาคารพาณิชย์ มีการแยกบัญชีการทำธุรกิจตามนโยบายรัฐ
รองผู้ว่าการ ธปท.มองว่า หากมีการค้ำประกันสินเชื่อได้ 1 แสนล้านบาท จะทำให้มีการปล่อยสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ควรลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จาก 1.75% เหลือ 1% โดยรัฐบาลสูญเสียรายได้แค่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแนวทางดังกล่าวป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Credit Crunch
นอกจากนี้ ในระยะยาว รัฐบาลควรคิดถึงการหารายได้ทั้งในส่วนของประชาชนและภาครัฐ ซึ่งวิธีการปูพรมที่ดี คือการสร้างแหล่งน้ำให้เกษตรกรเพื่อสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจระยะยาวในการหารายได้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในใจของประชาชน นอกจากนี้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องถกเถียงมานาน หากรัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้น เชื่อว่า รัฐบาลจะอยู่ในใจของนักวิชาการได้เช่นกัน
"สิ่งที่ไม่ชอบคือ นโยบายแจกเงิน 2 พันบาท เพราะใช้เงินกว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งก็เห็นผลได้แค่ 1-2 เดือน ส่วนการแจกข้าว ยิ่งไม่สนับสนุน เพราะหากทำเพื่อลดสต๊อกข้าวเก่า แต่ก็มีสร้างสต๊อกข้าวใหม่ขึ้นมาได้"นางอัจนา กล่าว
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการในหลายเรื่อง แต่ต้องการให้รัฐบาลพุ่งเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือประชาชนคนจนในเมือง ซึ่งมีผลต่อการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า
นอกจากนี้คือกลุ่แรงงานนอกระบบ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดการจัดต้องกองทุนแรงงานนอกระบบ แต่ปัญหาสำคัญของไทยของการขาดฐานข้อมูลคนจน ทำให้การแก้ปัญหาคนจนยังไม่ตรงจุด
ท้ายที่สุดแล้ว เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากเกินไป เพราะไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา ที่ถูกต้อง
ด้านนางผาสุก พงษ์ไพจิตร อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลก คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3-5 ปี ดังนั้น ซึ่งคาดว่าไทยก็คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวในระยะเวลาเดียวกัน การแก้ปัญหาคงไม่สามารถใช้แนวทางเดิมๆ ได้ ดังนั้น จึงต้องการเสนอแนะรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
รัฐบาลควรจัดทำแผนอุดหนุนสินค้าเกษตรในทุกประเภท จัดทำเป็นแผนต่อเนื่องในระยะ 3-5 ปี ซึ่งถือเป็นนโยบายของการแก้ปัญหารายได้ตกต่ำในภาคเกษตรที่เหมาะสม โดยอาจเป็นความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกลุ่มสหกรณ์ ซึ่งเข้าถึงภาคเกษตรได้มากกว่า
พร้อมทั้ง ตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประสานกับงานกับ อปท. กลุ่มสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อมีข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น รวมทั้งตั้งวอร์รูมติดตามข้อมูลโครงการรับจำนำพืชผลกเกษตร ป้องกันการรั่วไหล ทุจริต และระยะยาว ควรมีระบบการประกันการทำงานในภาคชนบท
อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรกังวลกับเพดานการก่อหนี้ภาครัฐมากจนเกินไป ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า แผน 2 ของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเน้นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และต้องปกป้องกลุ่มเสี่ยง ที่ควรได้รับการปกป้องด้วย ซึ่งควรพิจารณาว่า กลุ่มใด จะมีส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมองระยะยาว หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ สร้างความสามารถการแข่งขัน โดยต้องมีมาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการจ้างงานในอนาคร มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หลังจากไทยไม่มีการลงทุนในด้านนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ปัจจุบัน ระบบ ลอจิสติกส์ของไทย มีต้นทุนที่สูง รัฐบาลควรอัดฉีดเม็ดเงินส่วนนี้ เพื่อผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต การแก้ไขกฎระเบียบภาครัฐ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและนักลงทุน และการกระตุ้นภาคเกษตร เช่นการมีระบบการประกันภัยพืชผล และ คาร์บอน เครดิต
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรประเมินปัญหาเศรษฐกิจต่ำเกินไป เพราะมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลก จะมีผลต่อสถาบันการเงินเร็วขึ้นในช่วงกลางปีนี้ โดยเฉพาะตราสาร CDO ที่จะครบกำหนดชำระหนี้ เป็นเม็ดเงินกว่า 66 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรียมหาแนวทางรับมือ ทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และภาคการลงุทน ที่คาดว่าจะมีคนตกงานจำนวนมาก
ส่วนการเงินระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีความผันผวนมาก รัฐบาลต้องเตรียมมือ ซึ่ง กระทรวงการคลัง และ ธปท. ต้องวางแผนรับมือ
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่การวางเป้าหมายทางการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก แต่ควรคำนึงถึงเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาเพื่อชาติ