นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากที่ได้รับงบประมาณจากงบกลางปีจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยจะใช้โครงการธงฟ้าในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการ"ฟ้าสดใส คนไทยยิ้มได้"เข้ามาดำเนินการ ซึ่งได้กำหนดไว้ 4 รูปแบบ คือ ร้านสีฟ้า(บลู ช็อป) บริการสีฟ้า(บลู เซอร์วิส) การจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค(บลู เอาท์เลต) และสินค้าเกษตรสีฟ้า(บลู ฟาร์ม)
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะทยอยเปิดตัวโครงการสีฟ้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นจะเน้นร้านสีฟ้าก่อน เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ต้องให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพเป็นลำดับแรก โดยจะเน้นการเปิดร้านสีฟ้าตามแหล่งชุมชนสำคัญๆ ทั่วประเทศ นำสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหาร ของใช้ประจำวัน เสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าส่งออก สินค้าเครือข่ายธงฟ้า สินค้าโอทอป และสินค้า SMEs มาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด 30-50% ราคาจะไม่เกิน 60 บาท
"กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าร้านสีฟ้าที่ดำเนินการนี้จะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแน่นอน และไม่ทำลายร้านค้าปลีกรายย่อย เพราะการเปิดร้านขายสินค้าจะจัดกระจายหมุนเวียนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเน้นทุกพื้นที่ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้คัดเลือกสถานที่ และนำผู้ผลิตสินค้ามาขายสินค้า ไม่มีการเก็บค่าเช่า ทำให้ต้นทุนถูกลง และขายสินค้าได้ถูกกว่าปกติ แต่ไม่ใช่เปิดร้านถาวรเพื่อแข่งกับร้านค้าปลีกรายย่อย จะเน้นการขายสินค้าในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคเท่านั้น"นางพรทิวา กล่าว
ส่วนในด้านผู้ผลิตก็จะไม่มีการทำลายผู้ผลิตรายใด เพราะจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่มีสินค้าค้างในสต๊อกเพราะมีปัญหาด้านการส่งออก สามารถที่จะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในร้านสีฟ้าได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
นางพรทิวา กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์จะทยอยเปิดตัวร้านสีฟ้าในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป ซึ่งกำลังเตรียมเปิดตัวโครงการบลู เซอร์วิส ซึ่งจะเป็นจุดที่รวมบริการต่างๆ มาอยู่ในที่แห่งเดียวกัน แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ โดยได้ติดต่อบริการต่างๆ แล้วประมาณ 10 บริการ เช่น โรงแรม เพื่อกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว โรงพยาบาล ที่จะเน้นการให้บริการตรวจรักษาสุขภาพราคาถูก เป็นต้น มาร่วมในโครงการ
จากนั้นจะเร่งเปิดตัวบลูเอาท์เลต ที่จะนำสินค้าจากผู้ผลิตหรือสินค้าจากโรงงานไปขายตรงให้กับผู้บริโภค รูปแบบจะแตกต่างจากร้านสีฟ้า เพราะจะจัดเป็นบูธขนาดใหญ่ มีสินค้าจากโรงงานหลากหลายชนิดมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ผลิตให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ และช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง
ส่วนร้านเกษตรสีฟ้าจะเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง โดยจะนำสินค้าจากแหล่งผลิตมาสู่มือผู้บริโภค และช่วยระบายผลผลิตเกษตรไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำและช่วยให้ผู้บริโภคในพื้นที่อื่นได้บริโภคสินค้าเกษตรที่ราคาถูกลง