หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์รายงานว่า คณะทำงานของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของบารัค โอบามา วางแผนยกระดับระบบควบคุมภาคการเงินการธนาคารภายในประเทศ โดยมีทั้งการใช้มาตรการคุมเข้มกับกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ บริษัทจัดอันดับเครดิต และโบรกเกอร์สินเชื่อที่อยู่อาศัย อีกทั้งมีการตรวจสอบเครื่องมือทางการเงิน
ทั้งนี้ ภายใต้ระบบปัจจุบัน บริษัทจัดอันดับเครดิตจะได้รับเงินจากบริษัทต่างๆ เป็นค่าตอบแทนในการช่วยจัดโครงสร้างเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งในเวลาต่อมาบริษัทจัดอันดับเหล่านี้ก็ยังดำเนินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้อีก ซึ่งนางแมรี ชาปิโร ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากโอบามาให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (เอสอีซี) คนใหม่ กล่าวว่า หากไม่มีการจัดการกับรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนแล้ว ทางการสหรัฐก็จะไม่สามารถจัดการเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในอันดับความน่าเชื่อถือ และไม่เชื่อมั่นในคุณค่าของตราสารที่ถูกจัดอันดับ
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศรายใหญ่ อาทิ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ถูกวุฒิสภาสหรัฐโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนและปิดบังสถานะที่แท้จริงของบริษัทปล่อยกู้จำนอง จนเป็นเหตุให้กิดภาวะผันผวนในตลาดปล่อยกู้จำนองและสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนทั่วโลก อีกทั้งไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) ซึ่งตราสารหนี้เหล่านี้มีมูลค่าถดถอยลงเนื่องจากจำนวนบริษัทปล่อยกู้จำนองที่ประสบปัญหามีมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่ขาดความน่าเชื่อถือ (ซับไพรม์)
ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ว่าที่รมว.คลังสหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ซึ่งเขามองว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับให้คำมั่นสัญญว่าจะปฏิรูปโครงการฟื้นฟูมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐ
ไกธ์เนอร์ระบุว่า "ต้นทุนการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในสหรัฐจะบานปลายกว่าที่คิดหากเราไม่เริ่มใช้มาตกรการที่มีประสิทธิภาพในตอนนี้ วิกฤตการณ์ที่เข้าขั้นรุนแรงระดับนี้จำเป็นจะต้องใช้ 'ยาแรง' จึงจะรับมืออยู่" สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน