เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษกล่าวว่า ในการประชุม ณ กรุงลอนดอนในเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้ เหล่าผู้นำจากกลุ่ม G-20 อาจพูดคุยเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การลดก๊าซคอร์บอนในกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและประเทศเศรษฐกิจใหม่
ไซม่อน เฟรเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการยุโรปและโลกาภิวัฒน์ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า ผู้นำกลุ่ม G-20 ยังอาจย้ำถึงเรื่องการเปิดเสรีการค้าเพื่อต่อต้านการผูกขาดทางการค้าด้วย
"มาตรการที่เราใช้นอกจากจะรับมือวิกฤตการเงินโลกในปัจจุบันแล้ว ยังต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและสร้างระบบเศรษฐกิจที่ใสสะอาดกว่าเดิมได้ในอนาคต" นายเฟรเซอร์กล่าว
สิ่งที่นายเฟรเซอร์กล่าวถึงคือข้อตกลง "'Green New Deal" ซึ่งใช้ในการรับมือวิกฤตการเงินและภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการสนับสนุนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ, นายบัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และผู้นำอีกหลายประเทศทั่วโลก
"หากเราจะอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ต้องการให้เม็ดเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน" นายเฟรเซอร์กล่าว พร้อมกันนั้นยังกระตุ้นให้ G-20 กระตุ้นการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด เป็นต้น
นายเฟรเซอร์แสดงความเชื่อมั่นว่า การสร้างความร่วมมือดังกล่าวอาจกระตุ้นให้สหประชาชาตินำเรื่องสนธิสัญญาควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาเป็นประเด็นหลักในการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธ.ค. ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวจะถูกนำมาใช้แทนพิธีสารเกียวโตซึ่งกำลังจะหมดอายุในปี 2555
ทั้งนี้ ประเทศกลุ่ม G-20 ประกอบด้วยประเทศในกลุ่ม G-8 ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐ บวกกับประเทศอาร์เจนติน่า ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอารเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี และสหภาพยุโรป สำนักข่าวเกียวโดรายงาน