นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวแนวนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลชุดนี้ว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะผลักดันให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อกระจายหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติมอีก เนื่องจากขณะนี้ภาวะตลาดยังไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งสถานะและยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ และเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เป็นช่องทางหลักในการระดมเงินของภาครัฐ
ส่วนกรณีการเสนอให้รัฐบาลลดการถือหุ้นในรัฐวิสากิจต่ำกว่า 50% หลังแปรรูปและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ยังยืนยันที่จะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งในอดีตที่เคยเป็นกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ก็เคยได้สนับสนุนแนวคิดนี้
แต่อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่าแนวคิดดังกล่าวยังมีอุปสรรคในทางปฏิบัติว่าเมื่อเข้าจดทะเบียในตลาดหลักทรัพย์แล้ว หากรัฐบาลจะลดการถือหุ้นแล้วรัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะกลายเป็นบริษัทเอกชนตามหลักธรรมาภิบาลเต็มรูปแบบ หรือยังต้องการให้คงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป ซึ่งอาจจะเกิดความสับสนในบทบาทตัวเอง เช่น กรณีของบมจ.ปตท.(PTT)ที่ฝ่ายผู้ถือหุ้นก็ต้องการเรียกร้องให้คำนึงถึงผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น ขณะที่ประชาชนก็ต้องการเรียกร้องให้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน
รมว.คลัง กล่าวว่า เรื่องธรรมาภิบาลเป็นส่วนสำคัญในการกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจ แต่ยอมรับว่ากรรมการในรัฐวิสาหกิจ ยังเป็นไปตามวัฒนธรรม มีความเกี่ยวพันการเมือง และมีข้อจำกัดทางข้อกฎหมาย เช่น กรณีการรายงานบัญชีทรัพย์สินของผู้บริหาร หรือการสรรหากรรมการหรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ต้องออกประกาศรับสมัครผ่านสื่อ ในขณะที่ภาคเอกชนจะใช้วิธีการทาบทามมากกว่า จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่มีบุคคลที่เหมาะสมมาทำงานในรัฐวิสาหกิจ
"ผมเคยพูดเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรี เช่นการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เห็นว่าไม่ได้ช่วยลดการทุจริตได้ แต่กลับเป็นอุปสรรคในการหาคนที่เหมาะสมมาทำงาน...การประกาศสรรหา คนเก่งๆ คงไม่เข้ามาสมัครเอง แต่เอกชน เขาใช้วิธีเข้าถึงตัว ดังนั้น ก็เป็นอุปสรรคที่จะได้คนที่ต้องการเข้ามาทำงาน" รมว.คลัง กล่าว
นายกรณ์ กล่าวถึงความเหมาะสมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของประธาน ก.ล.ต.และกระบวนการสรรหาว่า แม้กระบวนการสรรหาจะไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย แต่เห็นว่าหากพิจารณาตามข้อสังเกตตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ระบุถึงเรื่องจริยธรรมในการแต่งตั้งตัวบุคคลที่เหมาะสมในการรับตำแหน่งสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ ก.ล.ต.ฉบับใหม่ จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหาร (บอร์ดเล็ก) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสรรหาบอร์ดเล็ก ซึ่งยืนยันว่าจะพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลที่เป็นกรรมการสรรหาที่ต้องมีธรรมาภิบาลมาก เนื่องจาก ก.ล.ต.มีหน้าที่กำกับตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น คณะกรรมการฯ ก.ล.ต.จึงต้องมีคุณสมบัติค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม การตั้งกรรมการสรรหา บอร์ดเล็ก ก.ล.ต. จะมีผลไปให้ต้องมีการล้มบอร์ดใหญ่ ก.ล.ต.ด้วยหรือไม่นั้น คงต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งอาจเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แต่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินคงต้องรอให้มีผู้ร้องเรียนเหมือนกรณีเช่นกรณีการสรรหาบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย
"การตั้งกรรมการสรรหาบอร์ดเล็ก จะมีผลต่อบอร์ดใหญ่หรือไม่คงต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจรอถามกฤษฎีกา หรือผู้ตรวจการแผ่นดินฯ แต่ยืนยันว่ามาตรฐานบอร์ด ก.ล.ต. ต้องสูงกว่าตลาดหลักทรัพย์"นายกรณ์ กล่าว