นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.มีแผนจะจัดทำโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-นวนคร ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างประมาณ 2-3 พันล้านบาท ซึ่งการดำเนินโครงการจะทำควบคู่กับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เนื่องจากต้องการขยายเส้นทางรถไฟออกสู่ชานเมือง และรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเข้าออกเมือง
ทั้งนี้ ผู้บริหาร รฟท.จะเสนอโครงการดังกล่าวให้คณะกรรมการ รฟท.พิจารณาอนุมัติในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงการ เพื่อที่จะเสนอรัฐบาลให้อนุมัติดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งการก่อสร้างส่วนต่อขยายนี้ คาดว่า จะมีสถานีรถไฟที่รังสิต-มหาวิทยาลัยกรุงเทพ-คลองหลวง
"เบื้องต้นเห็นว่าการต่อขยายรถไฟสายสีแดงออกไปอีก 10 กิโลเมตร จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางรถไฟสายสีแดงเพิ่มขึ้น เพราะแนวเส้นทางดังกล่าวมีเขตชุมชนเหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต และนวนคร ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น" นายสุพจน์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตนั้น ขณะนี้ผู้แทนจาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น(ไจก้า) ไม่ติดใจกรณีการดูแลรื้อย้ายผู้บุกรุกตามแนวเส้นทางรถไฟแล้ว เนื่องจาก รฟท.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบดูแลผู้บุกรุก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาเงินกู้จากไจก้า
นายสุพจน์ ยังกล่าวอีกว่า คณะกรรมการ รฟท.ยังได้เร่งรัดให้ รฟท.จ่ายเงินค่าก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรถส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ตเรลลิงค์) และโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วง ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ซึ่งมีปัญหาการจ่ายเงินล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน หรือตั้งแต่ช่วงปลายปี 51 เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติงาน กรณีที่มีการปรับแก้แบบก่อสร้างในขณะก่อสร้างจริง
"ที่ผ่านมาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำหนังสือทวงเงินค่าก่อสร้างมาแล้ว ซึ่งคณะกรรมการฯ จะได้เร่งรัดขั้นตอนการทำงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อที่จะให้งานก่อสร้างเดินหน้าและสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผนงาน" นายสุพจน์ กล่าว