นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.ได้ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสร็จแล้ว และเตรียมเสนอให้ รมว.คลังพิจารณาในเร็ว ๆ นี้
หลักการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ กำหนด 3 ประเภท คือ ที่ดินในเชิงพาณิชย์ กำหนดเพดานจัดเก็บภาษีอัตรา 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน, ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย อัตรา 0.1% และ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 0.05% โดยจะมีคณะกรรมการกลางประเมินอัตราภาษีที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ประเมินอัตราการเก็บภาษีทุก 4 ปี
แนวคิดการเก็บภาษีที่ดินฯ จะมาทดแทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือน จึงต้องไม่กระทบต่อรายได้ของท้องถิ่น ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดเก็บปีละ 19,000 ล้านบาท และยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่มาก แต่จะมีผลเฉพาะผู้ที่มีความสามารถในการเสียภาษี
นายสมชัย กล่าวว่า หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการผลักดันการเก็บภาษีที่ดินฯ เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในปีนี้ แต่การบังคับใช้กฎหมายจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี เนื่องจากมีขั้นตอนในการดำเนินการ รวมถึงการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
"วิธีคิดเพื่อกำหนดอัตราเก็บภาษีจะมีคณะกรรมการพิจารณาอัตราภาษีทุก 4 ปี ซึ่งมีเพดานที่กำหนดไว้แล้ว ดังนั้น การเก็บภาษี อาจจะต่ำกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ ขึ้นอยุ่กับความจำเป็น แต่การเก็บภาษีทั้ง 3 ประเภทต้องไม่ต่ำกว่ารายได้ที่ท้องถิ่นเคยเก็บจากภาษีโรงเรือน...ไม่กระทบกับผู้มีรายได้น้อย แต่กระทบผู้มีความสามารถในการเสียภาษี เกษตรกรรายเล็ก ที่มีที่ดินไม่มาก ไม่เสียภาษีอยู่แล้ว เราไม่ใช้รายได้เป็นหลัก แต่เน้นที่มูลค่าทรัพย์สิน"นายสมชัย กล่าว
ส่วนการเก็บภาษีมรดกนั้น ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา อาจยังไม่สามารถนำมาใช้ได้พร้อมกับ ภาษีที่ดินฯ ส่วนหนึ่ง เนื่องจากยังมีฝ่ายคัดค้าน ไม่สนับสนุนการเก็บภาษีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พร้อมที่จะทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชน