PTT โต้ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อเสนอขึ้นราคา LPG ในภาคขนส่ง-อุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.(PTT) ชี้แจงข้อเท็จจริงหลังถูกพาดพิงว่าโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นได้รับประโยชน์ในฐานะผู้ผลิตก๊าซหุงต้ม(LPG) จากกรณีที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ปรับขึ้นราคา LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมอีก 2.70 บาท/กก. ซึ่งความจริงแล้วเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของกองทุนน้ำมันฯจำนวน 2.52 บาท/ก.ก. และอีก 0.18 บาท/ก.ก.เป็นส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยผู้ผลิตทั้งโรงแยกก๊าซฯและโรงกลั่นจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการขึ้นราคาขายในครั้งนี้ เพราะรัฐยังคงควบคุมโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นเท่าเดิมที่ 10.996 บาท/ก.ก. หรือ 314 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งผู้ผลิตยังคงต้องรับภาระส่วนต่างของราคาตลาดโลกกับราคาควบคุมอยู่ต่อไป

ดังนั้นส่วนต่างของราคาขายปลีกหลังการปรับราคากับราคาตลาดโลกจะเป็นส่วนที่รัฐเก็บในรูปภาษีต่างๆ และกองทุน 6.57 บาท/ก.ก. ผู้ค้าน้ำมันตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าจะได้ค่าการตลาด 3.26 บาท/ก.ก. ในขณะที่ผู้ผลิตต้องรับภาระ 2.30 บาท/ก.ก.

"การเสนอปรับราคา LPG ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายการแก้ปัญหาราคา LPG และเพื่อให้เกิดการใช้ LPG เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุดและลดการนำเข้า ซึ่งผู้ผลิต LPG มิได้มีส่วนได้รับประโยชน์อันใดจากการปรับขึ้นราคาดังกล่าว" เอกสารเผยแพร่ของ ปตท.ระบุ

นอกจากนี้ยังชี้แจงด้วยว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ไม่ได้สวนทางกับกระแสราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่ปรับลดลง 60% จากกลางปีก่อน เพราะการเสนอปรับขึ้นราคาก๊าซครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างราคาที่บิดเบือนมานานจนไม่เกิดประสิทธิภาพ และทำให้ต้องนำเข้าก๊าซจนเป็นภาระของรัฐบาลมากขึ้น

ส่วนกรณีที่เข้าใจผิดว่าประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG ได้เพียงพอและยังเหลือส่งออกซึ่งทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้านั้น ความจริงแล้วประเทศไทยเริ่มขาดแคลนก๊าซ LPG ตั้งแต่เดือนเม.ย.51 และจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LPG รวม 4.5 แสนตันในช่วงเดือนเม.ย.-ธ.ค.51 แต่เหตุที่ยังมีการส่งออกอยู่นั้นเนื่องจากรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และพม่า ไม่สามารถนำเข้าก๊าซ LPG ได้เองจึงต้องขอความร่วมมือผ่านมายังไทยให้ช่วยนำเข้าแทนและส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น

พร้อมกันนี้ ปตท.ยังชี้แจงด้วยว่า การขาดแคลนก๊าซ LPG ไม่ได้เกิดจากการที่ ปตท.สร้างโรงแยกก๊าซฯ ไม่เพียงพอ เพราะความจริงแล้วการขาดแคลน LPG ในปี 51 เกิดจากความต้องการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการควบคุมราคาของภาครัฐให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกและประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 15% โดยเฉพาะในภาคขนส่งสูงขึ้นถึง 37%

"เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างโรงแยกก๊าซฯ เพิ่มขึ้นให้ทันต่อความต้องการดังกล่าว เพราะการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ จะต้องวางแผนล่วงหน้าและก่อสร้างไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ในปี 51 ความต้องการ LPG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสูงถึง 3.6 ล้านตัน หากการขยายตัวยังอยู่ในอัตราปัจจุบัน แม้จะมีการขยายโรงแยกก๊าซฯ ก็ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและต้องนำเข้า LPG ต่อไป หากไม่มีการแก้ปัญหาให้ถูกจุด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ