REPORT: เปิดสภาฯ ชำแหละเพิ่มงบประมาณกลางปี 52 วันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เปิดสภาผู้แทนราษฎรชำแหละร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 52 วงเงินทั้งสิ้น 1.167 แสนล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประมาณการว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่จัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดประเด็นสำคัญในการใช้จ่ายประมาณเพื่อสนับสนุนและกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 52, งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ, การทำงบเพิ่มเติมปี 52 และมาตรการแผนฟื้นฟูของรัฐบาล รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมัน และราคาสินค้าต่างๆ ในตลาดโลก รวมกับนโยบายที่ผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง(Real GDP)จากเดิมที่ 5.5% มาอยู่ที่ 3.0-4.0%, ประมาณการอัตราเงินเฟ้อจากเดิม 3.5% มาอยู่ที่ 2.5-3.5% และประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากเดิมที่ 10,266,000 ล้านบาท มาเป็น 9,813,800 ล้านบาท

ประมาณการใช้จ่ายงบเพิ่มเติม คาดว่ารัฐบาลเก็บรายได้จากภาษีและรายได้จากภาษีและรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 19,139.48 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 52 จำนวน 12,900 ล้านบาท และรายได้ภาษีและรายได้อื่นจำนวน 6,239.48 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น 97,560.52 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวนดังกล่าว ในส่วนแรกเป็นการฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านเศรษฐกิจและสังคมระยะเร่งด่วน ใช้งบประมาณ 93,470,075,700 บาท แบ่งเป็น แผนงานฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ 37,464,449,700 บาท และแผนงานเสริมสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตละความมั่นคงด้านสังคม 56,005,626,000 บาท

ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานภาครัฐ ใช้งบประมาณ 23,229,924,300 บาท แบ่งเป็นแผนการบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจัดสรรในงบกลาง 4,090,448,000 บาท และแผนงานรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 19,139,476,300 บาท

หลังจากจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 52 โดยดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 97,560.52 ล้านบาท ทำให้ดุลงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น 347,060.5 ล้านบาท คิดเป็น 3.79% ของจีดีพี ซึ่งทำให้สัดส่วนวงเงินหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี คิดเป็น 41.78% และสัดส่วนภาระหนี้ต่อวงเงินงบประมาณคิดเป็น 13.92% ซึ่งยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง

นอกจากนี้ ยังพบว่าในปีงบประมาณ 52 รัฐบาลที่ผ่านมามีแผนการเบิกจ่ายเงินกู้ 1,038 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น(เจบิก) 150 ล้านบาท ในโครงการเงินกู้(โออีซีเอฟ)เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 888 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องทางจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง ส่วนการยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจากโครงการ 6 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 18,200 ล้านบาท

*จำแนกรายโครงการ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้กับ 2 มาตรการสำคัญคือ มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของบุคลากรภาครัฐทุกหน่วยงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือนราว 1.326 ล้านคน คนละ 2,000 บาท รวม 2,652 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายตามหลักเกณฑ์ให้กลุ่มเป้าหมายผ่านกระบวนการเหมือนกับการจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามปกติ

และโครงการค่าใช้จ่ายเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน 6,900 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานทุกสาขาและนักศึกษาจบใหม่ จัดโครงการฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ ตามกลุ่มความถนัดและศักยภาพและรองรับแรงงานเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน คาดว่าจะไปปฎิบัติงานได้ 80%

สำนักงานประกันสังคมจะใช้งบประมาณ 16,318,324,100 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้นของรัฐและเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน โดยช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจำนวน 8,138,815 คน

โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน(ก.พ.-ก.ค.52) เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน โดยจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) 720 ล้านบาท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) 6,048 ล้านบาท, การประปานครหลวง(กปน.) 1,200 ล้านบาท, การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) 2,191,125,600 บาท, การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) 600 ล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) 650 ล้านบาท

โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี จัดสรรให้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น 552.673 ล้านบาท, เมืองพัทยา 4,348,400 บาท, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 22.288 ล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 5,755,408,800 บาท แบ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบ 533 ล้านบาท จำนวน 1 ล้านคน และการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชน 5,221 ล้านบาท จำนวน 2 ล้านคน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 11,001,539,100 บาท เป็นนักเรียนก่อนประถมศึกษา(อนุบาล) 1,039,066 คน ระดับประถมศึกษา 3,807,333 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2,180,281 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 990,384 คน รวมทั้งสิ้น 8,017,064 คน

สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา 1,409,349,200 บาท ในระดับ ปวช.1-3 จำนวน 541,017 คน, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) 5.197 ล้านบาท และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยและราชภัฏ จำนวน 44 แห่ง, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 117,524,600 บาท สำหรับการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 399 แห่ง ใน 66 จังหวัด รวม 54,309 รูป, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 46,236,800 บาท เป็นนักเรียนในสังกัดโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน 183 แห่ง จำนวนกว่า 29,710 คน

โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาคลักษณ์ของประเทศ(สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) 325 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นประเทศ 200 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ 125 ล้านบาท เป้าหมายประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมนี สวีเดน กลุ่มประเทศอาเซียนและสหภาพยุโรป โดยจัดคณะผู้แทนการค้าจัดสัมมนาโดยมีนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เป็นองค์ปาฐกด้านเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายนักธุรกิจ 3-4 ร้อยคน จัดนิทรรศการเผยแพร่วัฒนธรรมท่องเที่ยวลาหารไทย จัดเจรจาการค้าระหว่างรัฐ เอกชนไทยและประเทศเป้าหมาย จัดทำบทความประชาสัมพันธ์ให้บุคคลที่มีชื่อเสียงที่ยอมรับของโลกเขียนบทความเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ สร้างภาพลักษณ์สินค้าและธุรกิจบริการ โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 90%

โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน(สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี) 15,200 ล้านบาท เบิกจ่ายให้กับหมู่บ้านและชุมชนไม่น้อยกว่า 65,000 หมู่บ้าน/ชุมชน, โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน จัดสรรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,808.8 ล้านบาท เป็นอาคารเรือนแถวสูง 2 ชั้น 532 หลัง และโครงการปรับปรุงสถานีอนามัย จัดสรรให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,095.78 ล้านบาท โดยเป็นการปรับปรุงสถานีอนามัยที่ยังไม่ได้ปรับปรุงชั้นล่าง 2,609 แห่ง

โครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว(สำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) 453 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มเยาวชน นักเรียน และผู้สูงอายุ 153,000 คน ใช้งบประมาณ 153 ล้านบาท ในการทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ 14 เส้นทางเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสริมประสบการณ์ และทำการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวและกีฬาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 300 ล้านบาท โดยจัดกิจกรรมและสนับสนุนอุปกรณ์กีฬารวมทั้งพัฒนาเครือข่ายฯ 15 โครงการ

สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว 97 ล้านบาท จัดกิจกรรมปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวอุทยาน 10 แห่ง 30 ล้านบาท, ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเร่งด่วน 8 แห่ง 37 ล้านบาท, เพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย 29 ล้านบาท และยังจัดสรรให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 450 ล้านบาท จัดกิจกรรมเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก 150 ล้านบาท, กิจกรรมอะเมซิ่ง ไทยแลนค์ คอนซูเมอร์ แฟร์ 100 ล้านบาท, กิจกรรมไทยแลนด์ คอนซอเตี้ยม 80 ล้านบาท, เทศกาลเที่ยวเมืองไทย 5 ภูมิภาค 120 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้เข้าประเทศ 7,600 ล้านบาท

กรมชลประทาน จะใช้งบประมาณ 1,933.6 ล้านบาท ดำเนินโครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ 70 จังหวัด ภาคเหนือ 15 จังหวัด ภาคอีสาน 19 จังหวัด ภาคกลางและตะวันออก 17 แห่ง ภาคใต้และตะวันตก 19 จังหวัด โดยเป็นการก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ ประเภทระบบส่งน้ำ 66 แห่ง ประเภทหัวงาน 30 แห่ง ก่อสร้างอาคารป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 14 แห่ง และก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 41 แห่ง

กรมพัฒนาที่ดิน จะใช้งบประมาณ 66.4 ล้านบาท เพื่อขุดสระในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลบ.ม.จำนวน 4,000 บ่อ ค่าขุดสระบ่อละ 19,100 บาท โดยภาครัฐสนับสนุนบ่อละ 16,600 บาท และเกษตรกรมีส่วนร่วมในการสมทบค่าใช้จ่ายบ่อละ 2,500 บาท

กรมทางหลวงชนบท จะใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ดำเนินโครงการก่อสร้างทางภายในหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยก่อสร้างทางภายในหมู่บ้านกระจายตามเกณฑ์จำนวนประชากรในทุกจังหวัด ระยะประมาณ 490 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างเฉลี่ยกิโลเมตรละ 3 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าออกแบบ 8 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 22 ล้านบาท ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 1.47 พันล้านบาท

กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น จะใช้งบประมาณ 12,552.673 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้จำนวน 9,000 ล้านบาทในระยะเวลา 6 เดือน โดยส่งเสริมและสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ 3 ล้านคนๆ ละ 500 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไมได้รับเงินสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การภาคเอกชน อาทิ บำเหน็จบำนาญ หรือหลักประกันสังคม เป็นต้น

โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ได้รับงบประมาณ 552.673 ล้านบาท ให้กับโรงเรียนในกำกับของ อปท. 1,036 แห่ง กลุ่มเป้าหมาย 649,300 คน แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายรายหัว 46.41 ล้านบาท เป้าหมายนักเรียน 25,200 คน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน 101,567,500 บาท เป้าหมายนักเรียน 526,600 คน, ค่าหนังสือเรียน 176,207,500 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 228,488,000 บาท เป้าหมายนักเรียน 649,300 คน

โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสวัสดิการในอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือนในการส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่น โดยจะต้องลงทะเบียน อสม.ใหม่ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแทน อสม.ที่ลงทะเบียนกับสาธารณสุขกว่า 833,334 คน

เมืองพัทยาจะใช้งบประมาณ 4,348,400 บาท ในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ให้กับโรงเรียนในสังกัด 10 แห่ง นักเรียนจำนวน 11,058 คน

โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) 183.55 ล้านบาท, โครงการเพื่อร่วมลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาราลตามกรอบการลงทุนไทย-คูเวต ไทย-กาตาร์(กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) 128.92 ล้านบาท โดยการฝึกอบรมและสัมมนาผู้ประกอบการเพื่อการเรียนรู้ต้นแบบที่ดี เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคนในพื้นที่ 40 แห่งทั่วประเทศ โดยจะสามารถช่วยเหลือ SMEsได้ไม่ต่ำกว่า 2,500 กิจการ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนได้ 1,000 ล้านบาท, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) 14.98 ล้านบาท และกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 172.55 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจเอกชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กรมการค้าภายใน จะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการด้านการพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทำกิจกรรมเพื่อประสานผู้ประกอบการในเครือข่ายสินค้าธงฟ้า นำสินค้าที่จำเป็นมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดโดยเฉลี่ย 20-40% ทั้งใน กทม.และภูมิภาค, การจัดมหกรรมธงฟ้า 76 จังหวัดใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท, จัดตั้งร้านธงฟ้า 10 ร้าน ใช้งบ 50 ล้านบาท, ส่งเสริมตลาดสดสีฟ้า 7 แห่ง ใช้งบ 7 ล้านบาท, จัดจ้างบัณฑิต จำนวน 1,000 คนช่วยปฏิบัติตามโครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนใช้งบ 43 ล้านบาท

กรมทรัพยากรน้ำ จะใช้งบประมาณ 760 ล้าน ดำเนินโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการจัดการน้ำ ช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน โดยเป็นการกำจัดดินตะกอนและวัชพืชที่ทับถม เพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ 18.4 ล้าน ลบ.ม., ปรับภูมิทัศน์ รักษาสมดุลระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำได้รับอนุรักษ์และฟื้นฟู 389 แห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ