นายเศรษฐพร คูศริพิทักษ์ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เปิดเผยว่า กทช.จะมีการประชุมในวันที่ 5 ก.พ.เพื่อพิจารณาสรุปวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นรูปแบบการประมูล ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งเรื่องเงินทุนและประสบการณ์ โดยวิธีที่ทั่วโลกใช้กันอยู่มีทั้งรูปแบบการประมูล, ไฮบริด และ บิวตี้คอนเทสต์
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้มีการศึกษาให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย จากปัจจุบันมีคลื่นความถี่ 45 เมกะเฮิร์ตซ โดยอาจจะแบ่งให้รายละ 10 เมกะเฮิร์ตซ หรือ รายสุดท้ายอาจะให้ 15 เมกะเฮิร์ตซ
"ถ้าหากวันที่ 5 ได้คำตัดสินก็จะดำเนินการ หากใช้วิธีการประมูลอาจเปิดได้ใน พ.ค.-มิ.ย.ใช้เวลาพิจารณา 45-60 วันก็จะให้ไลเซ่นส์ได้ในไตรมาส 3 หลังจากนั้นคาดว่าผู้ประกอบการจะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 53 หรืออย่างช้าไตรมาส 2 ปี 53"นายเศรษฐพร กล่าว
นายเศรษฐพร กล่าวว่า ในด้านเงินลงทุนคาดว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะใช้เงินลงทุนอย่างน้อยรายละ 5 พันล้านบาท ซึ่งจะนำเงินเข้าส่งรัฐ
ด้านนายสรรชัย เตียวประเสริฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือ เอไอเอส คาดว่า ในระยะแรกแม้จะมีบริการ 3G แต่การส่งข้อมูลต่าง ๆ คงยังไม่มาก และจะไม่ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของในตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยเชื่อว่าผู้ใช้บริการกว่า 60 ล้านเลขหมาย ในจำนวนมีผู้ใช้บริการ 2 เลขหมาย ราว 20-30% เท่ากับว่ามีผู้ใช้โทรมือถือจริง 40 ล้านรายเท่านั้น
นายสรรชัย คาดว่า ผู้ที่จะใช้ 3G กลุ่มแรก คือผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10% ในปัจจุบัน
"การที่กทช. เปิดให้รายใหม่ นอกจากผู้ประกอบการรายเดิม 3 รายแล้ว เชื่อว่าต่างประเทศที่จะเข้ามาประมูลในไทย จีน อาหรับ รัสเซีย ถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีทุนมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ประมาท และ มีสิงเทลเป็นพันธมิตรอยู่แล้ว" นายสรรชัย กล่าว