(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน ดูแลสภาพคล่อง-ค่าบาท พยุงศก.ปี 52

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า นโยบายการเงินในปี 52 ยังเน้นการดูแลเศรษฐกิจเช่นเดียวกับนโยบายการคลัง เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจในปีนี้ยังหนีไม่พ้นความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 40 จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบภายในประเทศมีความแข็งแกร่งก็ตาม จึงถือเป็นปีที่ท้าทายทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ

แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังเชื่อว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ตามกรอบ 0-2% ไม่ถึงกับถดถอยเหมือนกับหลายประเทศ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5-1.5% ต่อปี เงินเฟ้อทั่วไปบางเดือนอาจติดลบ เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก จากปี 51 ที่เศรษฐกิจเติบโตราว 3.5-4.0%

"แม้เศรษฐกิจไทยภาพจะดีขึ้นแต่ก็ไม่อาจจะประมาทได้ เพราะมีความเชื่อมโยงต่อการค้าและภาคการเงินโลก จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทบ แต่แบงก์ชาติก็จะติดตามใกล้ชิด เป็นปีที่ท้าทายของทั้งภาครัฐและเอกชน"นางธาริษา กล่าวในการแถลงนโยบายการบริการเศรษฐกิจการเงินของธปท.ในปี 52

นางธาริษา กล่าวว่า ในปีนี้ ธปท.พร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายภายใต้กรอบวินัยทางการเงิน ท่ามกลางสภาวะการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมาก แต่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่ชะลอตัวลง จากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับแรงกระตุ้นทางการคลัง ที่ต้องอาศัยเวลาอีกระยะ

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ สอดรับนโยบายและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ และประคองให้เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถเติบโตได้ในปีนี้

"ตอนนี้ผลจากการลดอาร์พีเหลือ 2% ให้ผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะความมั่นใจ เพราะต้นทุนของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ก็จะลดลง เป็นผลด้านจิตวิทยาทำให้ความมั่นใจดีขึ้นมาก แต่ผลจากต้นทุนที่ลดลงจะกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนคงไม่เกิดขึ้นเร็ว เพราะมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน"นางธาริษา กล่าว

ส่วนการดูแลสภาพคล่องและระบบสถาบันการเงิน ขณะนี้เห็นว่าสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังมีเพียงพอ สะท้อนจากปริมาณเงินฝากที่มีมากกว่าเงินให้สินเชื่ออยู่พอสมควร โดย ณ สิ้น พ.ย.51 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก(รวมบี/อี)ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 88.7% ชี้ให้เห็นว่ามีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบที่ยังสามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนได้ พร้อมกันนี้ ธปท.จะดูแลให้ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินมีสภาพคล่องเพียงพออย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สภาพคล่องของธุรกิจที่หลายฝ่ายมีความกังวลนั้น มาตรการภาครัฐที่จะช่วยค้ำประกันเงินกู้และสนับสนุนสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านธนาคารของรัฐจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้พอควร และเมื่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น เชื่อว่าสภาพคล่องของธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นตาม

นอกจากนี้ ธปท. มุ่งหมายให้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ที่เริ่มดำเนินการในปีนี้ จะมีมาตรการต่างๆ เพื่อลดต้นทุนของธุรกรรมการเงิน ส่งเสริมการแข่งขัน ให้ระบบสถาบันการเงิน มีประสิทธิภาพและภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ตลอดจนประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงมากขึ้น แม้มาตรการเหล่านี้จะยังไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลย เพราะการเตรียมพร้อมของระบบอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นางธาริษา กล่าวว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจผันผวนการพูดคุยกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นทั้งในเรื่องภาวะเศรษฐกิจและการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เป็นแนวหน้าที่ติดต่อใกล้ชิดกับลูกค้าจึงมีข้อมูลมากกว่า และหากมีประเด็นใดติดขัดก็สามารถปรึกษาธปท.ได้ทันที

ส่วนเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(สเปรด)ที่มีข้อเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงนั้น นางธาริษา กล่าวว่า ขณะนี้ดอกเบี้ยรับลบดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ยทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 3.2% ถือว่าอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับอาเซียนที่มีตั้งแต่ 2.2-6.0% แต่หากหักกับต้นทุนประกอบการจะมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ 1.1% ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียน สะท้อนว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้มากขึ้น แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นมาจากการทำตามกฎกติกาของธปท. ซึ่งธปท.ก็อยู่ในกระบวนการที่จะพยายามช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับ 2

ผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทยังนิ่ง และเมื่อเทียบกับภูมิภาคยังอยู่ในระดับกลาง ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าถือว่าอ่อนลงมามากกว่า แต่เห็นว่าไม่ควรทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากนัก เพราะประเทศที่ค่าเงินอ่อนมากมักจะเป็นประเทศที่มีปัญหา ดังนั้น ต่างประเทศอาจมองในแง่ลบได้

ธปท. จะดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยจะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาท ผันผวนมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ สำหรับด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ธปท.จะยังคงยึดกรอบการดำเนินนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่ให้มีการเปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ