นายกฯ แจงสภาฯจัดงบกลางปี 52 เพิ่มเพื่อกระตุ้นศก.-บรรเทาความเดือดร้อนปชช.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แจกแจง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 1.167 แสนล้านบาท ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ มีหลักการและเหตุผลเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น 97,560 ล้านบาท และเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 19,139 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจทางการเงินในสหรัฐฯ และผลกระทบต่อเนื่องที่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีความรุนแรงส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจึงชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากไตรมาส 3/51 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 4.0% ชะลอตัวลงจากระดับ 5.3% ในไตรมาส 2/51 และไตรมาสสุดท้ายของปี 51 ผลกระทบต่อการส่งออกมีความรุนแรงขึ้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณและมูลค่าการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.51 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติการการเงินในสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 52 ภาวะเศรษฐกิจโลกจะถดถอยและส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย การชะลอตัวของกำลังซื้อทั้งในและนอกประเทศ จะส่งผลให้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้มีการเลิกจ้างงาน ดังนั้นการว่างงานจะรุนแรงขึ้นในไตรมาส 2-3 ของปีนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นรวมทั้งบรรยากาศการผลิตและการลงทุน และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะปานกลางได้

"จากสภาพปัญหาดังกล่าว รัฐบาลตระหนักดีว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข คือปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเพื่อดำเนินการในระยะเร่งด่วน โดยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายเพื่อสิ่งจำเป็นในชีวิตได้ต่อเนื่องก่อนในระยะแรก และให้มีการลงทุนของเอกชนเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องให้ระบบการผลิตของประเทศสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้ และสนับสนุนให้สามารถรักษาระดับการจ้างงานไว้ได้ในระดับที่จะไม่กลายเป็นปัญหาทางสังคมและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ดังนั้นการดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินการเรื่องเร่งด่วนควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ พร้อมๆ กันอย่างเป็นบูรณาการ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอแนะและข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจากตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทบทวนสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ ทางเลือกที่มีความเหมาะสมและการสอดคล้องกับความจำเป็นในการดำเนินนโยบายและมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลแล้วเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 52 เพื่อให้เม็ดเงินของรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

แต่การดำเนินการดังกล่าวรัฐบาลยังคงยึดมั่นและให้ความสำคัญกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 52 จำนวน 1.167 แสนล้านบาท ที่นำเสนอต่อสภาฯ ให้พิจารณาวันนี้ มุ่งเน้นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยมีเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม คือเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 97,560 ล้านบาท และภาษีและรายได้อื่น 19,139 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์และโครงการสำคัญในการใช้งบประมาณดังนี้

1.การฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ 37,464 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน ลดภาระค่าครองชีพ รักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศ เช่น โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ, โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน, โครงการจัดทำและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร, โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการจัดการน้ำ, โครงการสร้างก่อสร้างทางภายในหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน, โครงการด้านพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือประชาชน, โครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว, โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและ SMEs และโครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์

2.การเสริมสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคม 56,005 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนเสริมสร้างรายได้และโอกาสในสังคมให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น เช่น โครงการสนับสนุนการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี, โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน, รายการค่าใช้จ่ายเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน, โครงการสร้างหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุ, โครงการส่งเสริมอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน(อสม.)เชิงรุก, โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน

3.การบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 4,090 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสำรองไว้สำหรับกรณีค่าใช้จ่ายในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ 52 ที่จัดเตรียมไว้ไม่เพียงพอจากการเพิ่มเป้าหมายค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเร่งด่วนตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม และการใช้จ่ายตามเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย

4.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 19,139 ล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายชดเชยเงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้วตามที่กฎหมายกำหนด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นมาตรการระยะเร่งด่วน และเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยมาตรการระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ทั้งที่ใช้เงินงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนและมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ ซึ่งครอบคลุมการช่วยเหลือทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเพื่อวางรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

"ผมทราบดีว่าเงื่อนไขด้านเวลามีความสำคัญ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาที่จะใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนและขนาดของวงเงินที่มีอยู่จำกัด ทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเรื่องสำคัญอื่นได้เพียงพอกับข้อเสนอของทุกฝ่าย มาตรการครั้งนี้มุ่งเน้นเพิ่มอำนาจการซื้อให้เกิดการใช้จ่ายที่ต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นอุปสงค์รวมภายในประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ผ่านไปด้วยดี" นายกรัฐมนตรี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ