เจโทรเผยนักลงทุนญี่ปุ่นยังแฮปปี้ แม้มองศก.ไทยปี 52 แย่ลงจากวิกฤติโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมูเนโนริ ยามาดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร)กรุงเทพฯ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นในไทยยังเชื่อมั่นที่จะทำธุรกิจในประเทศไทยต่อไป แม้จะคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 52 จะแย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา เพราะได้รับผลกระทบวิกฤตการเงินและวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวอีกนานแค่ไหน

นักลงทุนญี่ปุ่นเห็นว่าไทยมีรัฐบาลชุดใหม่และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจน จึงยืนยันจะไม่ถอนการลงทุนออกไป แต่กลับจะมีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นมารวมไว้ในประเทศไทยแทน เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเห็นว่าไทยยังมีศักยภาพ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ เพราะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สนับสนุนการผลิตที่สมบูรณ์ และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ

ประธาน เจโทร ประจำประเทศไทย กล่าวยอมรับว่า จากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก ทำให้บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้เริ่มไม่ต่ออายุสัญญาจ้างพนักงานแบบเหมาจ่าย และให้พนักงานประจำออกจากงานก่อนกำหนด(เออร์ลี่ รีไทร์)บ้างแล้ว เช่น บริษัทขนาดกลางและเล็ก(SME)ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ ทั้งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เหล็ก โลหะ แม่พิมพ์งานโลหะและเหล็ก เป็นต้น

"เมื่อยอดส่งออก และยอดขายลดลง บริษัทก็ต้องพยายามแก้ปัญหา อันดับแรกคือ ส่งพนักงานชาวญี่ปุ่นกลับประเทศ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็ต้องปรับลดการผลิต เช่น จาก 6 วันต่อสัปดาห์ เหลือ 5 วัน หรือ 3 วัน ไม่มีค่าทำงานล่วงเวลา ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องใช้มาตรการแรงงานต่อไป แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย" นายยามาดะกล่าว

ทั้งนี้ ผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยในช่วง H1/51-H1/52 ซึ่งสำรวจจาก 341 บริษัท ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-1 ธ.ค. 51 พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่แย่ลงเพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้กำลังซื้อลดลง รวมถึงผลกระทบจากการเมืองยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

ส่วนบริษัทที่มองธุรกิจแย่ลงใน H1/52 มี 71% เพิ่มขึ้นจาก H2/51 ที่มี 59% โดยอุตสาหกรรมที่แย่ลงอย่างชัดเจน ได้แก่ ยานยนต์ เคมี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านยอดการส่งออก ยอดขายในประเทศ และผลกำไรลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน อาเซียน ยุโรป นอกจากนี้ ผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกยังทำให้บริษัทต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินกู้ยากขึ้น เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยกู้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นคาดหวังให้รัฐบาลไทยมีนโยบายที่เหมาะสม และมีการบริหารจัดการที่มีความสอดคล้อง ต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะในเรื่องการหารือกับภาคอุตสาหกรรมก่อนกำหนดนโยบายต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน เป็นต้น รวมถึงต้องการให้แก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้เอื้อต่อการลงทุน คาดหวังให้ไทยเป็นผู้นำในอาเซียน

ส่วนมาตรการที่ต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินการ เช่น ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น ผ่อนปรนการปล่อยสินเชื่อให้แต่ละอุตสาหกรรมได้มากกว่า 25% ประกันสินเชื่อภาคยานยนต์เหมือนภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อจูงใจให้ซื้อมากขึ้น เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ