(เพิ่มเติม) กทช.คาดให้ไลเซ่นส์ 3G ราว Q3/52 เปิดให้บริการได้อย่างช้าใน Q2/53

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพร คูศริพิทักษ์ คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เปิดเผยว่า กทช.จะมีการประชุมในวันที่ 5 ก.พ.เพื่อพิจารณาสรุปวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G บนคลื่น 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นรูปแบบการประมูล ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งเรื่องเงินทุนและประสบการณ์ โดยวิธีที่ทั่วโลกใช้กันอยู่มีทั้งรูปแบบการประมูล, ไฮบริด และ บิวตี้คอนเทสต์

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้มีการศึกษาให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย จากปัจจุบันมีคลื่นความถี่ 45 เมกะเฮิร์ตซ โดยอาจจะแบ่งให้รายละ 10 เมกะเฮิร์ตซ หรือ รายสุดท้ายอาจะให้ 15 เมกะเฮิร์ตซ

"ถ้าหากวันที่ 5 ได้คำตัดสินก็จะดำเนินการ หากใช้วิธีการประมูลอาจเปิดได้ใน พ.ค.-มิ.ย.ใช้เวลาพิจารณา 45-60 วันก็จะให้ไลเซ่นส์ได้ในไตรมาส 3 หลังจากนั้นคาดว่าผู้ประกอบการจะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 53 หรืออย่างช้าไตรมาส 2 ปี 53"นายเศรษฐพร กล่าว

นายเศรษฐพร กล่าวว่า ในด้านเงินลงทุนคาดว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะใช้เงินลงทุนอย่างน้อยรายละ 5 พันล้านบาท ซึ่งจะนำเงินเข้าส่งรัฐ ทั้งนี้ ต้องการให้มีรายใหม่เข้ามาใหม่ นอกเหนือจากผู้ให้บริการ 3 รายแล้ว เพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง

นอกจากนี้ กทช.เตรียมจัดทำแผนระบบบริการอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (WiMax) ภายในไตรมาส 1/52 หรือ ภายในเดือนมี.ค. 52 และคาดว่าจะรู้วิธีจัดสรรได้ในไตรมาส 2/52 และจะให้ได้กี่ราย จากนั้นจะดำเนินการให้ใบอนุญาตได้ในไตรมาส 3/52 ซึ่งระยะเวลาไล่เลี่ยกับการประมูลคลื่นระบบ 3G ทั้งนี้การจัดสรคลื่นความถี่ WiMax จะใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.4-2.5 กิ๊กกะเฮิร์ตซ

ด้านนายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือ เอไอเอส คาดว่า ในระยะแรกแม้จะมีบริการ 3G แต่การส่งข้อมูลต่าง ๆ คงยังไม่มาก และจะไม่ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของในตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยเชื่อว่าผู้ใช้บริการกว่า 60 ล้านเลขหมาย ในจำนวนมีผู้ใช้บริการ 2 เลขหมาย ราว 20-30% เท่ากับว่ามีผู้ใช้โทรมือถือจริง 40 ล้านรายเท่านั้น

นายสรรค์ชัย คาดว่า ผู้ที่จะใช้ 3G กลุ่มแรก คือผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามคาดว่าคงใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจำนวนการใช้จะมากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นเอง

"การที่กทช. เปิดให้รายใหม่ นอกจากผู้ประกอบการรายเดิม 3 รายแล้ว เชื่อว่าต่างประเทศที่จะเข้ามาประมูลในไทย จีน อาหรับหรือตะวันกลาง รัสเซีย ถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีทุนมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ประมาท และ มีสิงเทลเป็นพันธมิตรอยู่แล้ว" นายสรรค์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่า ในกลางปี 52 จะมีการเปลี่ยนแปลงของ handset หรือ เครื่องโทรศัพท์มือถือ รองรับระบบ 3G

ด้านนายนาย Roar Wiik Andreassen ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์ธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะให้บริการระบบ 3G บนคลื่นเดิมที่ 850 เมกะเฮิร์ตซ และ บนคลืนใหม่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนระบบ 3G ราว 5,000 - 10,000 ต่อปี

ส่วนนายอธิป อัศวนันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ หัวหน้าแผนกลยุทธ์และนวัตกรรม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่วว่า แม้จะมีรายใหม่เข้ามาแข่งขันในระบบ 3G แต่เชื่อว่ารายใหม่ยังต้องลงทุนสูงมากเพราะต้องมีระบบ 2G รองรับด้วย เพราะเชือ่ว่าตลาดยังคงมีความต้องการอยู่ ขณะที่ 3 รายปัจจุบันมีระบบ 2G อยู่แล้ว ส่วนกลุ่มทรูได้เปรียบที่มีทั้ง handset ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายไอโฟน 3G และมี WiFi รองรับอยู่แล้วโดยในกทม. ทรูมีอยู่ 1.5 หมื่นจุดที่รองรับ 3G ได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ