(เพิ่มเติม) คลังเผย GDP Q4/51 ลบ3.5% ชะลอตัวทั้งอุปสงค์ตปท.-ในปท.-ลงทุนเอกชนอ่อนแอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2009 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เผย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ในไตรมาส 4/51 ติดลบ 3.5% โดยเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวมาก ทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกที่หดตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศในด้านการบริโภคยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอและปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 3/51 สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่ ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 52 อาจติดลบต่อเนื่อง หากมีการเบิกจ่ายเงินเข้าระบบช้า

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4/51 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพียง 0.1% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 16.1% เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าสอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัว 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 29.8%

ส่วนรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในไตรมาสที่ 4/51 (ไตรมาสแรกปีงบ 52) เท่ากับ 272.8 พันล้านบาท หดตัว 16.1% ส่วนหนึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมันตามมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน

สำหรับรายจ่ายรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้ 404.3 พันล้านบาท ขยายตัว 2.8% แม้ว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณในระดับต่ำในช่วงเดือนต.ค.51 เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 52 มีผลบังคับใช้ล่าช้า แต่ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.51 รัฐบาลได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยรายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้ 334.3 พันล้านบาท ขยายตัว 10.3% ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้ 28.1 พันล้านบาท หดตัว 48.7%

การส่งออกในไตรมาสที่ 4/51 หดตัวลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากการปิดสนามบินภายในประเทศซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้า โดยมูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 38.7 พันล้านดอลลาร์ หดตัว 10.6% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 ปี

ด้านอุปทานไตรมาสที่ 4/51 พบว่าผลผลิตภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีทิศทางหดตัว โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรที่วัดจากดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 4 หดตัว 0.1% เป็นผลมาจากการหดตัวในผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมันผลผลิตลดลงต่อเนื่องตามราคาที่ลดลง ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เบื้องต้น) หดตัว 9.7% สะท้อนการชะลอการผลิตของภาคอุตสาหกรรมตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัวลง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4/51 อยู่ที่ 2.2% ต่อปี ปรับลดลงโดยมีสาเหตุจากราคาสินค้าพลังงานและอาหารปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวม

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือน พ.ย.51 อยู่ที่ 37% ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 50% ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธ.ค.51 อยู่ในระดับสูงที่ 111 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ