นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยอมรับว่า จากที่ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/51 อาจจะติดลบได้ถึง 3.5% ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 1/52 ที่อาจจะติดลบด้วยเช่นกันนั้น อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ช่วงถดถอยได้
แต่ทั้งนี้หวังว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นได้ในไตรมาสถัดไป ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลัง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับต่างประเทศได้ และไม่ทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากจนส่งผลให้เกิดวิกฤติได้
นายสมชัย ยังคาดว่า ในเดือนม.ค.นี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะติดลบได้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตั้งแต่เดือนก.พ.ที่รัฐบาลจะหันมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามเดิมนั้นเชื่อว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้นได้
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถ เนื่องจากรัฐบาลจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปช่วยอุดหนุนเพื่อไม่ทำให้ราคาน้ำมันต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
ส่วนที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหลังจากที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเพราะอาจเป็นเพียงภาวะเงินฝืดในทางเทคนิคเท่านั้น แต่หากภาวะเงินฝืดเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอยสิ่งนี้จะน่ากังวลมากกว่า
นายสมชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 1/52 มีโอกาสติดลบอย่างแน่นอน เนื่องจาก เมื่อเทียบไตรมาส 1/51 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 6% ซึ่งเป็นฐานที่สูง ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (ก.พ.-มี.ค.52) รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำงานเชิงบูรณาการ ให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว ในขณะที่การจัดทำงบกลางปี 52 จะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งหากผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว อาจจะทำให้ไตรมาส 1/52 เศรษฐกิจอาจจะติดลบน้อยลงกว่าไตรมาส 4/51 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจผงกหัวขึ้นได้
"ตอนนี้ สศค.ส่งสัญญาณเตือน ชัดเจนแล้วว่า ไตรมาส 1/52 มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจติดลบมีสูง หากทำไม่ดี เศรษฐกิจอาจแย่กว่าไตรมาส 4/51 ดังนั้น นโยบายต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งบท่องเที่ยว เร่งรัดเบิกจ่าย งบลงทุน เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อหวังให้เศรษฐกิจเป็น V-Shape ตอนนี้ก็มีเวลาอีก 2 เดือน" นายสมชัย กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลแฝด คือการขาดดุลการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ประเทศต่างๆ เริ่มประสบปัญหาขาดดุลแฝด เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย การใช้นโยบายการคลัง ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีการใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งบางประเทศนั้น ใช้นโยบาย 2 ด้านเต็มที่แล้ว และเริ่มหันไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้ค่าเงินอ่อนค่าลงบ้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ในขณะที่ค่าเงินบาทของไทยเองนั้น เมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ยังอ่อนค่าลงน้อยมาก ดังนั้น เห็นว่า ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องร่วมมือกันดูแลค่าเงินให้อ่อนค่าใกล้เคียงเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยไม่ให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นได้
"ภาระหนักของไทยคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเรายังขาดดุลเล็กน้อย ซึ่งยังไม่น่ากังวล แต่ต้องระวัง หากขาดดุลมากๆ และเป็นเวลานาน รวมกับการขาดดุลการคลังแล้ว จะทำให้ประเทศเกิดวิกฤตได้ ซึ่งเราไม่อยากเห็นเหมือนวิกฤตปี 40" นายสมชัย กล่าว