นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปี 52 หากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 0.5% ตามที่ IMF คาดการณ์จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของธุรกิจ SMEs ไทยลดเหลือเพียง 47,000 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 10.3% จากปีก่อน และอาจต้องปลดพนักงานออก 300,000 คน
โดยสาเหตุที่การส่งออกของ SMEs หดตัวเพราะตลาดคู่ค้าหลักติดลบ 13.6% โดยเฉพาะสหรัฐฯที่คาดหดตัวลง 19.8% ขณะที่ตลาดอื่นยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวหรือขยายตัวแค่ 7.7% ส่วนตลาดรองและตลาดใหม่มีทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน
สำหรับสินค้าส่งออกของ SMEs ที่คาดว่าจะหดตัวมากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จะหดตัว 13.8%, กลุ่มพลังงานหดตัว 11.5%, กลุ่มเคมีภัณฑ์หดตัว 10.3% ขณะที่สินค้ากลุ่มที่ใช้แรงงานจะหดตัวต่ำกว่ากลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูง โดยกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะหดตัว 1.5% กลุ่มอาหารหดตัว 1.2% ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาสภาพคล่องโดยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างการสัมมนา "หนุนธุรกิจไทย สู้ภัยวิกฤตโลก"ว่า รัฐบาลเตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้สำหรับช่วยเหลือ SMEs ให้ปรับตัวรับมือวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน
รวมทั้งพัฒนาธุรกิจให้เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เพราะปัญหาที่ SMEs พบมากที่สุด คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากทำให้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะยอดขายในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ SMEs ไทยปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมด้วย
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย การส่งออกของ SMEs ย่อมจะได้รับผลกระทบตาม ซึ่งต่อไปคงต้องหวังพึ่งพาการค้าการลงทุนกับต่างประเทศน้อยลงและหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ขณะที่รัฐบาลต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ต้องปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และปรับแผนตลาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์