ธปท. เผยศก.ไทยเดือนธ.ค.โดยรวมหดตัว แต่ทั้งปียังอยู่ในเกณฑ์ดี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 30, 2009 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.51 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยด้านอุปทาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวหดตัวต่อเนื่อง ส่วนผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญชะลอตัวลง ทำให้รายได้เกษตรกรชะลอตัว

ส่วนด้านอุปสงค์ การส่งออกและการลงทุนหดตัวเช่นเดียวกับการนำเข้า ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ประกอบกับมีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่

โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.51 หดตัวมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 18.8% เป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวด เนื่องจากการลดลงมากของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานยนต์, ผลิตภัณฑ์เหล็ก ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.อยู่ที่ 58.9 ลดดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็ฯการลดลงในหมวดที่ผลิตเพื่อการส่งออก

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือนธ.ค.51 ขยายตัว 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าไม่คงทน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.6% ตามเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ

ส่วนในปี 51 ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 5.3% ชะลอลงจาก 8.2% ในปี 50 ตามการชะลอตัวอขงกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องหนัง ขณะที่กลุ่มที่ผลิตเพื่อขายในประเทศเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี จากการผลิตรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 69.3 ลดลงจากระดับ 73.9 ในปี 50

ด้านอุปสงค์ การบริโภค และการลงทุนลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้าย แม้อัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ด้านการส่งออกและนำเข้าขยายตัวดีตลอดช่วง 3 ไตรมาสแรก แต่การส่งออกกลับหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงมากเช่นกัน

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพด้านต่างประเทศเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ดูลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้เคียงสมดุล เงินเฟ้อสูงขึ้นจากปีก่อน(2550)จากราคาน้ำมันในระดับสูง แม้จะลดลงต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่มีสัญญาณของการจ้างงานที่ลดลงช่วงไตรมาสสุดท้ายโดยเฉพาะภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ