นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังหารือกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศ 3 แห่ง คือ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย(เอดีบี) และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า)เพื่อขอเปิดวงเงินกู้รวม 60,000-70,000 ล้านบาทตามแผนสำรองในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะประเมินผลการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเดือน เม.ย.ก่อน ทั้งการจัดทำงบกลางปี 52 และมาตรการอื่น ๆ โดยคาดหวังให้งบกลางปี 52 มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจไทยเป็นบวก ไม่อยู่ในภาวะติดลบและจะมีการประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาความจำเป็นของการใช้มาตรการในรูปแบบอื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหรือไม่
วิธีที่ดำเนินการได้ภายใต้กรอบของกฎหมายขณะนี้ คือ การกู้เงินจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินกู้แบบตายตัว แต่เป็นการสนับสนุนโครงการตามนโยบายของรัฐบาล มีระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ที่ยาว และอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้
"การใช้งบกลางปี 52 นั้น ขณะนี้ยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเตรียมนำกลับเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า...ส่วนมาตรการสำรอง โดยการกู้เงินจากองค์กรระหว่างประเทศ จะดูความเหมาะสม หากจำเป็นก็ต้องใช้เงินส่วนนี้ แต่ต้องโปร่งใส โดยมีแนวคิดว่าจะนำเสนอต่อสภา เพื่อสร้างความชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นการใช้เม็ดเงิน"นายกรณ์ กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า การใช้เงินกู้ระหว่างประเทศส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินของรัฐ คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ จะได้เสนอขอเงินงบประมาณในการเพิ่มทุนสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่ง