(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ม.ค.52 ลดลง 0.4% Core CPI เพิ่ม 1.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2009 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน ม.ค.52 อยู่ที่ 102.1 ลดลง 0.4% จากเดือน ม.ค.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ธ.ค.51

"อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมปีนี้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี" นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ม.ค.52 อยู่ที่ระดับ 102.4 เพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือน ม.ค.51 แต่ลดลง 0.1% จากเดือน ธ.ค.51

สำหรับดัชนีสินค้าหมวดอาหารในเดือน ม.ค.52 อยู่ที่ 115.0 เพิ่มขึ้น 11.7% จากเดือน ม.ค.51 แต่ลดลง 0.3% จากเดือน ธ.ค.51 ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารในเดือน ม.ค.52 อยู่ที่ 93.9 ลดลง 8.0% จากเดือน ม.ค.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน ธ.ค.51

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เหตุที่ CPI ในเดือนม.ค.52 ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ ขนส่งและการสื่อสาร 14.4% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง, ดัชนีราคาหมวดเคหสถาน ลดลง 7.4% โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและน้ำประปา

อย่างไรก็ดี ในเดือนม.ค.52 กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับปรุงนำหนักและปีฐานจากที่เคยใช้ปี 45 มาเป็นปี 50 ส่งผลให้จำนวนสินค้าและบริการที่ใช้คำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 417 รายการ จากเดิม 374 รายการ โดยรายการสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องนุ่งห่ม, เคหะสถาน, การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร, การบันเทิง, การศึกษา, ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อในปี 52 มาอยู่ที่ 0-0.5% จากก่อนหน้านี้ที่คาดไว้ที่ 0-1.2% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์

อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค.52 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี นับตั้งแต่เดือน ต.ค.42 ที่เงินเฟ้อติดลบ 0.4% นั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เหตุที่อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเพราะเมื่อเทียบกับดัชนีเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีฐานที่สูงมาก จากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงมากในช่วงต้นปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปีนี้ที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับติดลบ

นอกจากนี้ สถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบในเดือน ม.ค.52 ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะการที่สินค้าหลายรายการได้ทะยอยปรับลดราคาลงตามภาวะราคาน้ำมัน กลับจะส่งผลดีให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น

"ราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงมาก ซึ่งลดตามราคาฐานที่สูงมากในปี 51 ที่มาจากหลายสาเหตุ คือ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร แต่ตอนนี้ได้ปรับราคาสินค้าสู่ฐานที่ปกติ...จากที่ได้ติดตาม ยังไม่มีอะไรบ่งบอกว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด" นายศิริพล กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.52 มีแนวโน้มจะขยายตัวติดลบต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.52 เนื่องจากตัวเลขฐานในปีก่อนอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับใกล้ 0% แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ราวไตรมาส 3 ของปีนี้

"(อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.52)มีโอกาสที่จะติดลบ เพราะปีก่อนฐานดัชนีสูงมาก อาจจะ pick up ได้ในช่วงไตรมาสสาม หรือไตรมาสสี่" แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงเป็นไปตามต้นทุนจากราคาน้ำมัน และส่งผลดีให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 51 ของประเทศต่างๆ ถือว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยไม่อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 5.5%, มาเลเซีย 5.4%, ฟิลิปปินส์ 9.3%, อินโดนีเซีย 10.3%, สิงคโปร์ 6.5%, จีน 5.9%, อินเดีย 8.7%, เวียดนาม 23.1% และสหรัฐฯ 3.9%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ