BBL คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 0.5-0.75% ในรอบหน้า หวังช่วยกระตุ้นศก.อีกแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2009 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คาดการณ์ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 25 ก.พ. 52 น่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5-0.75% เนื่องจากทางการยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่มาตรการการคลังยังไม่มีผลในช่วงครึ่งแรกปี 52

โดยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการหดตัวพร้อมกันของ 3 ประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก คือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยภาคส่งออกเริ่มหดตัวตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ 5 มาตรการ ออกไปอีก 6 เดือน และราคาน้ำมันที่ลดลง โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 52 อยู่ที่ ติดลบ 0.4 ถึง ติดลบ 0.8% ทั้งนี้ฝ่ายวิจัย BBL ได้รายงานภาวะการเงิน ในเดือน ธ.ค. 51 พบว่า เงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ พ.ย. 51 เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ ก.ค. 50 เป็นต้นมา เนื่องจากหลายธนาคารมีการรณรงค์เงินฝากระยะพิเศษ ส่วนสินเชื่อของระบบ เริ่มมีสัญญาณลดความร้อนแรงลงในไตรมาส 4/51 สอดคล้องกับการลดลงของราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และการหดตัวของภาคส่งออก

สภาพคล่องของระบบสถาบันการเงินในเดือน พ.ย. 51 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หากพิจารณาจากทั้งสัดส่วนสินเชื่อ/เงินฝาก และสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) โดยสัดส่วนสินเชื่อ/เงินฝากในเดือน พ.ย. ของสถาบันรับฝากเงินอื่น อยู่ที่ 94.3% เพิ่มขึ้น ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 88.4%

ส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquid Assets) ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 17 แห่ง เดือน พ.ย. พบว่า มีปริมาณ 1.94 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 22.7% ของสินทรัพย์รวม

อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน พบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารประเภท ข้ามคืน เดือน ธ.ค. 51 เฉลี่ย 2.71% ลดลงจาก 3.60% ในเดือน พ.ย. เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 51 และตลาดต่างคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับลดลงอีก และผลการประชุมของ กนง. เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 52 ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกตามคาด 0.75% อยู่ที่ 2 % เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน ทั้งจากภาคส่งออกที่หดตัว การชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ระดับต่ำ จึงเอื้อในการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายควบคู่กับการใช้นโยบายการคลัง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบ

ส่วนอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดย สหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ลงอีก 0.75-1% อยู่ที่ 0-0.25% และ BOJ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Uncollareralized overnight call rate จาก 0.3 % เหลือ 0.1% BOE ได้ปรับลดดอกเบี้ย Current Bank Rate ลงอีก0.5% อยู่ที่ 1.5 % ต่อปี และ ล่าสุด 15 ม.ค. 52 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Rate ลงอีก 0.5% เหลือ 2.0% ต่อปี

ด้าน เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ (34 แห่ง) ใน พ.ย. 51 มียอดคงค้าง 6,959.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ ก.ค. 50 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาคครัวเรือนหันมาฝากเงินในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นในช่วงที่ช่องทางการลงทุนแหล่งอื่น ๆ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากนับรวมการออกตั๋วแลกเงินที่มียอดคงค้างในเดือน พ.ย. จำนวน 577.7 พันล้านบาท เข้าไปในเงินฝากแล้ว เงินฝากเพิ่มขึ้น 6.1 %

เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน สหกรณ์ออมทรัพย์และกองทุนรวมตลาดเงิน มีแนวโน้มไปในทางเดียวกันกับเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมียอดคงค้างในเดือน พ.ย. 51 จำนวน 2,076.1 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9%

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ (34 แห่ง) พ.ย. 51 มียอดคงค้างจำนวน 6,154.3 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.8% สินเชื่อที่เคยเร่งตัวขึ้นตลอด 9 เดือนแรกของปี 51 เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวในช่วงไตรมาส 4/51 สอดคล้องกับการลดลงของราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงภาคส่งออกที่หดตัว

สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน และสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งมีทิศทางทรงตัวตลอดในช่วง 9 เดือนแรกของปี เริ่มมีทิศทางชะลอตัวเช่นกันใน Q4/51 มียอดคงค้างในเดือน พ.ย. 51 จำนวน 2,369.4 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.1%



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ