แบงก์ออมสินอัดฉีดหมื่นลบ.ให้สินเชื่อแฟคตอริ่ง มี.ค.เสริมสภาพคล่อง SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2009 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารออมสิน เตรียมนำเสนอสินเชื่อแฟคตอริ่งเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ SMEs ในช่วงปลาย ม.ค.นี้ วงเงินเบื้องต้นกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในปี 52 ที่จะขยายสินเชื่อให้เติบโตขึ้น 6.5 หมื่นล้านบาท ขยายเงินฝากเพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีแผนจะลด NPL ให้เหลือต่ำกว่า 3% ในสิ้นปี 52 จาก 3.3% ณ สิ้นปี 51

นายเลอศักดิ์ จุลเทพ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารมีกลยุทธ์จะเพิ่มธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการเพิ่มการให้บริการและเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้า โดยสินเชื่อแฟคตอริ่งเป็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะมีการรับซื้อสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ หรือการนำใบสั่งซื้อมาค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งมีวงเงินเบื้องต้นราว 5 พันล้านบาทสำหรับลูกค้าเดิม และยังมีการขยายไปยังลูกค้ารายใหม่ด้วย

ธนาคารยังจัดโครงการช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ลูกค้าสินเชื่อเพิ่มเติม หลังจากได้จัดตลาดนัดเพื่อให้ธุรกิจ SMEs ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารได้มีช่องทางการตลาดมากขึ้น ซึ่งล่าสุดธนาคารได้ศึกษาดูงานของ Seoul Business Agency (SBA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศเกาหลีใต้ที่สนับสนุนด้านการตลาดให้แก่ผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ ด้วยการกำหนดแบรนด์ที่รับประกันคุณภาพโดย SBA คือ "Hi-Seoul" ให้กับสินค้าหลากหลายประเภททั้งแฟชั่น, เกมส์, แอนนิเมชั่น, เครื่องอัดรูป แม้กระทั่งโถชักโครกไฮเทค

นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารออมสินจะนำ SBA มาเป็นต้นแบบในการกำหนดแบรนด์ของออมสินเช่นกัน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีสินค้าที่มีมาตรฐานเพียงพอที่จะได้รับแบรนด์นี้ไม่น้อยกว่า 100 ราย พร้อมไปกับการจัดตลาดนัดเพื่อเปิดช่องทางการขายให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพื่อต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าของธนาคาร

ธนาคารยังมีโครงการจะขยายธนาคารประชาชนเป็น 2.5 แสนราย และขยายความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) ภายใต้โครงการ 1 สาขา 2 ธนาคาร เพื่อใช้สาขาของแต่ละธนาคารในการให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้อีก 500 ล้านบาท จาก 400 ล้านบาทในปีก่อน

รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์สลากออมสินพิเศษในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งมีโปรโมชั่นแจกรถยนต์ฮอนด้าแจ๊ซ 8 คัน มีเป้าหมายระดมเงินฝากมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันโครงสร้างเงินฝากของธนาคาร 66% เป็นเงินฝากประจำ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าธนาคาร พาณิชย์ทั่วไป ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 50% โดยธนาคารออกสลากออมสินกว่า 1.9 แสนล้านบาท และเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตอีก 4 หมื่นล้านบาท

นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารยังมุ่งตอบสนองวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการออม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการดำเนินงาน 4 ด้านหลัก คือ การเพิ่มและขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายและครบวงจร, การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการออมและการสร้างวินัยทางการเงิน ด้วยการขยายธนาคารโรงเรียนและการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารให้สอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลตามหลักสากล

"ธนาคารออมสิน ยังคงบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งบทบาทสำคัญคือการเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" นายเลอศักดิ์ ระบุ

นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารมีเป้าหมายระยะยาวในการขยายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 51 มีสินทรัพย์รวม 808,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากสิ้นปี 50 ทำให้ธนาคารมีขนาดสินทรัพย์สูงเป็นอันดับ 5 ในระบบธนาคาร จากสินเชื่อสุทธิที่ขยายตัวจาก 16.1% มาที่ 75,712 ล้านบาท ส่วนเงินฝากมียอดรวม 702,479 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งตลาดเงินฝากที่ 7.9% ทำให้ธนาคารมีผลกำไร 13,381 ล้านบาท สูงขึ้น 24.6% จากปี 50

ด้านนายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้อกับการลงทุนประเภทตราสารทุน ซึ่งทำให้พอร์ตลงทุน ณ สิ้นปี 51 ลดลงเหลือ 2.2 แสนล้านบาทจากต้นปีอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท หลังจากตลาดหุ้นซบเซาอย่างหนัก ดังนั้นธนาคารจะไม่เข้าไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยง โดยจะพยายามเน้นไปที่สินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยบริหารให้มีอายุการลงทุนในช่วง 2-3 ปี

ส่วนตราสารทุนแม้ว่าโดยปกติแล้วธนาคารจะเลือกการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และอยู่ใน SET50 แต่ปีนี้อาจจะลดสัดส่วนลงจากปกติที่เคยอยู่ที่ 15% เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ในระดับ 4% ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าพอร์ตการลงทุนของธนาคารอื่นๆ เนื่องจากธนาคารออมสินไม่มีการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประเภท CDO จึงไม่มีผลความเสียหายจากการลงทุนดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ