สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาคการธนาคารและเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่สกุลเงินปอนด์ร่วงลงอย่างหนักเนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจลดดอกเบี้ยลงอีก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สกุลเงินดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนแตะระดับ 89.580 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 89.970 เยน/ดอลลาร์ แต่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินฟรังค์ที่ 1.1618 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1607 ฟรังค์/ดอลลาร์
ขณะที่ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.2844 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.2780 ดอลลาร์/ยูโร และเงินปอนด์ร่วงลงแตระดับ 1.4280 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.4503 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 0.6323 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6350 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.6323 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.6350 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่ารายได้ส่วนบุคคลลดลง 0.2% ในเดือนธ.ค. หลังลดลง 0.4% ในเดือนพ.ย.และการใช้จ่ายส่วนบุคคลลดลง 1.0% ในเดือนธ.ค. หลังลดลง 0.8% ในเดือนพ.ย.
ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างร่วงลง 1.4% ในเดือนธ.ค.ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2551 เหลือเพียง 1.05 ล้านล้านดอลลาร์
นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่า อีซีบีอาจจะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% สูดระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2548 ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพยุงเศรษฐกิจยุโรปไม่ได้ถุกกระทบจากภาวะถดถอย ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยหนุนสกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้น
ขณะที่เงินปอนด์ดิ่งลงอย่างหนักเนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% แตะที่ 1.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งการตัดสินใจของแบงก์ชาติอังกฤษในครั้งนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ 315 ปีของธนาคาร
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับที่สอง โดยมุ่งเน้นที่การควบคุมระบบการเงินภายในประเทศให้มีความรัดกุมมากขึ้น ซึ่งมครอบคลุมถึงการรับประกันสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและเปิดทางให้ธนาคารกลางอังกฤษมีสิทธิอำนาจในการเข้าซื้อหุ้นในสถาบันการเงินภายในประเทศ