(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบคลังกู้ในปท. 2 แสนลบ.-ตปท. 7 หมื่นลบ.ใช้กระตุ้นศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 3, 2009 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงินกู้ให้กับกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นการกู้เงินในประเทศ 2 แสนล้านบาท และการกู้เงินจากต่างประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาท

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินกู้ 2.7 แสนล้านบาทให้กับกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นการกู้เงินในประเทศ 2 แสนล้านบาท และการกู้เงินจากต่างประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาท

สำหรับการกู้เงินในประเทศ 2 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่องให้กับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเจรจาขอกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ โดยจะมีการออกหนังสือแจ้งไปยังสถาบันการเงินในประเทศทุกแห่งเพื่อให้แจ้งความจำนงที่จะปล่อยกู้กับกระทรวงการคลัง ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่จะขอใช้เงินกู้ในส่วนนี้จะต้องมีการจัดทำแผนงานและรายละเอียดเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเหมาะสมก่อน และจะอนุมัติวงเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไม่เกิน 18 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นสามารถที่จะเสนอ ครม.ขออนุมัติขยายเวลาเป็นรายกรณีไป

ส่วนการกู้เงินจากต่างประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาทนั้นจะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย(ADB) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(JICA) ซึ่งในส่วนนี้จะต้องทำประชาพิจารณ์ และขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หลังจากผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้วจึงจะมีการเจรจารายละเอียดกับองค์กรระหว่างประเทศทั้ง 3 แห่ง

รองผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า กรอบวงเงินกู้ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้นที่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในปี 52 เพิ่มขึ้น 42% ของจีดีพี จากเดิมที่ระดับ 36% ของจีดีพี แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า วงเงินกู้ 2 แสนล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องรัฐวิสาหกิจ เป็นวงเงินกู้ Short term facility จะเป็นเครื่องมือในการจัดการให้การกู้เงินในประเทศของภาครัฐ(รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ) ไม่ต้องกระจุกตัวช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งจะไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น(Crowding out effect)ต่อภาคเอกชน

และเพื่อใช้สำหรับการ Bridge financing สำหรับดำเนินโครงการการบริหารและจัดการเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะไปก่อนแล้วหาเงินกู้ระยะยาวเพื่อปรับโครงสร้างหนี้(Refinance)

เงื่อนไขของเงินกู้ มีระยะเวลา 3 ปี แหล่งเงินมาจาก ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นไปตามข้อเสนอของธนาคาร ซึ่งจะได้เจรจาต่อรองต่อไป โดยต้องมีการรายงานผลการกู้เงิน ต่อครม. ทุก ไตรมาส ส่วนกรอบและหลักเกณฑ์การกู้เงิน Short term facility เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย/โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ /ชำระคืนเงินกู้เดิมเพื่อเป็นการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศ ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ และ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่กระทรวงการคลัง กรณีที่เกิดความเสี่ยงในการผิดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของรัฐวิสาหกิจ ระยะเงินกู้ ไม่เกิน 18 เดือน อัตราดอกเบี้ย ใช้อัตราต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

ส่วนเงินกู้ วงเงิน 70,000 ล้านบาท โดยกู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อใช้เพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐสำหรับรองรับการขยายสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล ในการขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการค้ำประกันให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการรายย่อย ,เพื่อการลงทุนในโครงการภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มผลิตภาพ , เพื่อสนับสนุนโครงการ แผนงานและ/หรือกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายหรือให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอกรอบและหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรเงินกู้สำหรับโครงการต่างๆ ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองและกำกับติดตามโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานมีหน้าที่ในการกำกับติดตามการดำเนินโครงการ และการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และกรอบการดำเนินงานที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. รวมทั้งรายงานความคืบหน้าโครงการและผลการเบิกจ่ายเงินกู้ให้ ครม.รับทราบ

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การขอวงเงินกู้ครั้งนี้ประเมินอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งวงเงินค้ำประกันหนี้เงินกู้จะต้องไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ซึ่งตามแผนการค้ำประกันหนี้เดิมได้ใช้วงเงินไปแล้ว 16% ยังเหลือช่วงที่รัฐบาลค้ำประกันหนี้รัฐวิสาหกิจได้อีก 4%

ส่วนการกู้เงินต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมีข้อจำกัดที่กำหนดเพดานไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่าย หรือวงเงิน 1.8 แสนล้านบาท ขณะนี้มีการกู้เงินไปเพียง 35,0000 ล้านบาท หาก รวมการกู้เงิน 3 สถาบันการเงินระหว่างประเทศอีก 70,000 ล้านบาท ก็ยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

นายกรณ์ กล่าวว่า แผนการกู้เงินครั้งนี้จะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะจาก 37% เป็น 41-42% ต่อจีดีพี และปีงบประมาณ 2553 ที่รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายแบบขาดดุลงบประมาณก็จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบไม่เกิน 50% ของจีดีพี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ