ธปท.เตือนแบงก์พาณิชย์รับความเสี่ยงวิกฤติศก.โลกดำเนินธุรกิจระมัดระวัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 3, 2009 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เชิญนายแบงก์พาณิชย์หารือแลกเปลี่ยนความเห็นการรับมือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลกที่จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวว่า ธปท.ได้ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมถึงความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์จะถูกกระทบในปีนี้ โดยได้เตือนให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ เพราะมีหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

แต่ทั้งนี้ ธปท.ไม่ได้มีความกังวลหรือขอให้ธนาคารพาณิชย์ทำตามนโยบายของ ธปท.ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ

"เป็นการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิด ทั้งด้านเศรษฐกิจและภาพรวมการกำกับสถาบันการเงิน รวมทั้งมุมมองที่ ธปท.เห็นว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการทำธุรกิจแบงก์ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีเป็นปกติ" นายประสาร กล่าวหลังร่วมหารือกับ ธปท.

นายประสาร เห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินทั้งในประเทศและต่างประเทศราว 270,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินในประเทศ 200,000 ล้านบาทและต่างประเทศอีก 70,000 ล้านบาท เพื่อสำรองในการใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ มาตรการการใช้จ่ายภาครัฐมีความสำคัญในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะปัจจุบันเทียบกับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีพีดี)ยังเอื้อให้มีการขยายวงเงินกู้ยืมได้ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคตด้วย แต่ยังกังวลว่าประสิทธิภาพของการนำเงินกู้ดังกล่าวมาใช้จะให้ประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งคงต้องพิจารณาว่ารัฐบาลจะนำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง

"การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลก็เหมือนกับหมดรักษาคนไข้ ซึ่งต้องดู 3 ด้าน คือ ประคองอาการไม่ให้เลวร้ายลง รักษาความเจ็บป่วยว่ามาจากสาเหตุใด และสุดท้ายฟื้นฟูให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งหากทำได้ทั้ง 3 ข้อจะเป็นมาตรการทางการคลังที่สมบูรณ์ ถ้าทำได้แบบยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ส่วนจะส่งผลดีต่อจีดีพีมากแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับการขยายผล เพราะเงินจำนวนนี้ไม่ได้ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งรัฐบาลควรทำงานร่วมกับเอกชนเพื่อให้เกิดการขยายผลมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ" นายประสาร ระบุ

นายประสาร ยังไม่เชื่อว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินฝืดมีนิยามหลายอย่าง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงในครั้งนี้อาจเป็นการลดลงทางเทคนิค เพราะปีก่อนฐานเงินเฟ้อสูงมากจากผลของราคาน้ำมันสูง ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นประเด็นที่น่าตกใจที่อัตราเงินเฟ้อในบางเดือนของปีนี้จะติดลบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ