ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วงเทียบสกุลเงินหลักๆ หลังสหรัฐเผยยอดการซื้อบ้าน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 4, 2009 07:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) เนื่องจากยอดการซื้อบ้านที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ธนาคารกลางทั่วโลกนำมาใช้ ส่งผลให้นักลงทุนปลีกตัวออกจากการซื้อสกุลเงินดอลลาร์ที่เคยถูกมองว่าเป็นแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงก่อนหน้านี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สกุลเงินดอลลาร์อ่อนร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 89.250 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 89.460 เยน/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1426 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1613 ฟรังค์/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.3031 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.2849 ยูโร/ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.4459 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.4276 ปอนด์/ดอลลาร์

ดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 0.5131 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.5048 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.6519 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.5048 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย

นักลงทุนเทขายดอลลาร์หลังจากสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติเปิดเผยว่า ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 6.3% ในเดือนธ.ค. แตะที่ 87.7 ยูนิต ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค. และสะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อได้กลับเข้าตลาดเพื่อฉวยประโยชน์จากราคาบ้านและอัตราดอกเบี้ยจำนองที่อยู่ในระดับต่ำ

วุฒิสภาสหรัฐกำลังอภิปรายเรื่องร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 8.85 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการ "Buy American" (การซื้อสินค้าสหรัฐ) เข้าไว้ด้วย โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะรับประกันว่าโครงการที่ได้รับเงินทุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้จะต้องช่วยสร้างงานในสหรัฐด้วย

นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยมีการคาดการณ์ว่าอีซีบีจะตรึงดอกเบี้ยที่ 2% และธนาคารกลางอังกฤษจะลดดอกเบี้ยลงอีก หลังจากธนาคารกลางอังกฤษลดดอกเบี้ยลง 0.5% แตะที่ 1.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งการตัดสินใจของแบงก์ชาติอังกฤษในครั้งนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ 315 ปีของธนาคาร

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับที่สอง โดยมุ่งเน้นที่การควบคุมระบบการเงินภายในประเทศให้มีความรัดกุมมากขึ้น ซึ่งมครอบคลุมถึงการรับประกันสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและเปิดทางให้ธนาคารกลางอังกฤษมีสิทธิอำนาจในการเข้าซื้อหุ้นในสถาบันการเงินภายในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ