นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจวันนี้กระทรวงการคลังได้รายงานสถานการณ์ด้านการคลัง โดยยอดเงินคงคลัง ณ สิ้นธ.ค. 51 อยู่ที่ 52,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงต้นปีงบประมาณและรัฐบาลมีรายได้ภาษีน้อย แต่มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณมากทั้งการเบิกจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่เงินคงคลังจะเพิ่มขึ้น หลังจากมีรายได้ภาษีเข้ามาในช่วง 1-2 เดือนนี้ จึงขอให้มั่นใจว่าเงินคงคลังไม่ได้อยู่ขั้นวิกฤติ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานฐานะการคลังปี 52 คาดว่าภาครัฐจะมีรายได้ 1.453 ล้านล้านบาท และหากเบิกจ่ายงบประมาณได้ 94% จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 1.8 ล้านล้านบาท และมีการเบิกจ่ายงบกลางปีเต็มจำนวน ก็จะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 518,150 ล้านบาท โดยจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 345,361 ล้านบาท
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 52 คาดว่าจะเกินดุล 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลง และยังมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจีดีพี ปี 52 อยู่ที่ 0-2%
ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ราคาหน้าโรงงานถึงปลายทางให้สอดคล้องกับต้นทุน โดย ม.ค.52 กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเจรจาของความร่วมมือผู้ประกอบการปรับลดราคาสินค้าลง 25 รายการ จาก 50 รายการ ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ยังเหลือราคาสินค้าอีก 25 รายการที่ยังทรงตัว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแนวทางเร่งรัดแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน หลังจากพบปัญหาการตีความกฎระเบียบที่แตกต่างกัน เช่น แนวทางการปฏบัติและวิธีการคำนวจภาษี และได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม
ดังนั้น ที่ประชุมฯ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับความเป็นวัตถุอันตรายของสารซัลเฟอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เพื่อวางแนวทางปฎิบัติให้ชัดเจน
และ ให้กระทรวงการคลังหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตีความเรื่องสิทธิตามเขตข้อตกลงการค้าเสรีให้เป็นความเห็นเดียวกัน และมอบหมายให้ บีโอไอ นำเรื่องวิธีการคำนวนภาษีการใช้สิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คณะกรรม บีโอไอพิจารณา และรายงาน ครม.เศรษฐกิจต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้พิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (คณะกรรมการลอจิสติกส์ ) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นกลไกถาวรในกากำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ โดยจะสนอ ครม.พิจารณาในวันที่10 ก.พ.นี้ เพื่อเร่งจัดตั้งคณะกรรมการต่อไป